สสจ.ขอนแก่นเผยบุคลากรทางการแพทย์ติดโควิด ส่วนใหญ่ฉีดวัคซีน “ซิโนแวค” ครบ2เข็มแล้ว จึงไม่แสดงอาการ ย้ำวัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่ได้รับเร็วที่สุด (มีคลิป)

news2021_Facebook1

สสจ.เผยอาการบุคลากรทางการแพทย์ขอนแก่นติดโควิดทั้ง 2 โรงพยาบาล ปัจจุบันยังไม่แสดงอาการ พบส่วนใหญ่ฉีดวัคซีน “ซิโนแวค” ครบ 2 เข็มแล้ว ทำให้มีภูมิคุ้มกันต้านไวรัส ขณะที่การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ รพ.หนองสองห้อง เข้า รพ.สนามแห่งที่ 4 ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

        เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 3 ส.ค.2564 ที่สำนักงานสาธารณสุข จ.ขอนแก่น นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุข จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์บุคลากรทางการแพทย์ รพ.หนองสองห้อง ยืนยันติดเชื้อโควิด- 19 รวม 7 คน และ รพ.เอกชน ยืนยันติดเชื้อโควิด-19 รวม 15 คน ซึ่งจากการตรวจสอบอาการเช้าวันนี้พบว่าส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มไม่แสดงอาการ หรือกลุ่มสีเขียว แต่แนวทางการรักษายังคงต้องเข้มงวดตามมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด โดยเฉพาะที่ รพ.หนองสองห้อง ที่ได้นำผู้ป่วยทั้ง 7 คนเข้ารับการรักษาที่ รพ.หนองสองห้อง โดยมีการปรับย้ายผู้ป่วยโควิด ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้คือกลุ่มสีเขียว 30 คน จาก รพ.หนองสองห้อง มาทำการรักษาที่ รพ.สนามขอนแก่น แห่งที่ 4 แทน โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการลำเลียงผู้ป่วยตามระบบการส่งต่อทางการแพทย์

        “จากการตรวจสอบพบว่า ที่ รพ.หนองสองห้อง นั้น บุคลากรทางการแพทย์ 6 คน ได้รับวัคซีนชิโนแวคครบแล้วทั้ง 2 เข็ม และอีก 1 คน เพิ่งได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ได้ 1 เข็ม เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ดังนั้นจะเห็นได้ว่าบุคลากรทางที่รับวัคซีนจะมีภูมิคุ้มกันและเมื่อติดเชื้อก็จะมีอาการไม่มากและบางคนจัดอยู่ในกลุ่มไม่แสดงอาการ ขณะที่ ในส่วนของ รพ.เอกชน พบว่า 12 คน ได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 เข็มแล้วเช่นกัน โดยมีเพียง 3 คน ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเนื่องจากรอวัคซีนทางเลือก ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่ทุกคนได้รับวัคซีนจัดสรรตามที่รัฐบาลกำหนดให้เร็วที่สุดเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันต้านโควิด-19 กันในภาพรวม”

        นพ.สมชายโชติ กล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้ 2 คลัสเตอร์ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ นั้นอยู่ในการกำกับควบคุมของสำนักงานสาธารณสุข ทั้งหมดแล้ว และได้มีการนำผู้ที่เสี่ยงสัมผัสสูงจากกลุ่มคลัสเตอร์ดังกล่าวมาเข้ารับการตรวจคัดกรองกันให้ครบทุกคนเพื่อความปลอดภัย รวมทั้งการกำชับให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงานได้ระมัดระวังและป้องกันตนเองในการปฎิบัติหน้าที่อย่างเข้มงวด ซึ่งจากภาพที่ปรากฎในโลกโซเชียนมีเดียนั้นคือการที่บุคลากรทางการแพทย์รู้สึกเสียใจที่ไม่ได้มาทำการักษาผู้ป่วยที่ตนเองนั้นให้การรักษาอยู่ และจะต้องเข้ารับการรักษาตนเองและกักตัว 14 วัน ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ทดแทนนั้นได้มีการประสานงานร่วม รพ.ใกล้เคียงในการส่งทีมเจ้าหน้าที่เข้าสนับสนุนการทำงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง