ม.ขอนแก่น จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOA) กับ สมาคมช่างภาพผู้สื่อข่าวโทรทัศน์จังหวัดขอนแก่น เพื่อให้บริการหลักสูตรพัฒนาการประชาสัมพันธ์และสื่อสารยุคดิจิทัล

6F3B5543-7F4E-45C5-A475-F6D11EA9A183

มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย สำนักบริการวิชาการ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOA) กับ สมาคมช่างภาพผู้สื่อข่าวโทรทัศน์จังหวัดขอนแก่น เพื่อให้บริการวิชาการหลักสูตรการพัฒนาการประชาสัมพันธ์และสื่อสารยุคดิจิทัล

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 10 ตุลาคม 2566 ที่ห้องมณีเทวา อาคารพิมล กลกิจ ชั้น 5 สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (Memorandum of Agreement: MOA) ระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น กับ สมาคมช่างภาพผู้สื่อข่าวโทรทัศน์จังหวัดขอนแก่น เพื่อให้บริการวิชาการหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์และสื่อสารยุคดิจิทัล โดยมี รองศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ ผู้รับมอบอำนาจจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กับ นายชาญสิทธิ์ ฝางชัยภูมิ นายกสมาคมช่างภาพผู้สื่อข่าวโทรทัศน์จังหวัดขอนแก่น และมี รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภสิทธิ์ คนใหญ่ รองผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ ฝ่ายบริการวิชาการ  ดร.ไพฑูรย์ พรหมเทศ เลขาธิการสมาคมช่างภาพผู้สื่อข่าวโทรทัศน์จังหวัดขอนแก่น ลงนามเป็นพยาน พร้อมทั้งมีผู้บริหาร และบุคลากรจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น กับ สมาคมช่างภาพผู้สื่อข่าวโทรทัศน์จังหวัดขอนแก่น เข้าร่วมงานพิธีในครั้งนี้ด้วย

รองศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสมาคมช่างภาพผู้สื่อข่าวโทรทัศน์จังหวัดขอนแก่น มีความประสงค์ให้บริการวิชาการแก่สังคม ในด้านการพัฒนาบุคลากรด้านการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารยุคดิจิทัลแก่บุคลากรหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและประชาชนผู้สนใจทั่วไป รวมถึงการจัดทำหลักสูตรการจัดการศึกษาตลอดชีวิตในการพัฒนาบุคลากรด้านการประชาสัมพันธ์ ตลอดจนหลักสูตร หรือกิจกรรม หรือโครงการอื่น ๆ ที่สนใจร่วมมือกัน โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีหน้าที่เสนอขออนุมัติโครงการ ประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มเป้าหมาย  ต่าง ๆ ดำเนินการบริหารจัดการฝึกอบรมและดูแลความเรียบร้อยในการฝึกอบรม การประเมินผล และจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินโครงการ ส่วนสมาคมช่างภาพผู้สื่อข่าวโทรทัศน์จังหวัดขอนแก่น มีหน้าจัดทำหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรด้านการประชาสัมพันธ์และสื่อสารยุคดิจิทัล จัดหาวิทยากรผู้เชี่ยวชาญสำหรับการฝึกอบรมของแต่ละหลักสูตร ตลอดจนดูแลอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ ให้แก่วิทยากรอย่างทั่วถึง

นายชาญสิทธิ์ ฝางชัยภูมิ นายกสมาคมช่างภาพผู้สื่อข่าวโทรทัศน์จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จากการเปลี่ยนแปลงด้านการสื่อสารในยุคดิจิทัล ทั้งด้านเทคโนโลยี พฤติกรรมการรับสื่อของ ประชาชนที่ทุกคนสามารถเผยแพร่ส่งต่อข้อมูลข่าวสารได้เอง ส่งผลกระทบอย่างมากต่อประชาชนผู้รับสื่อและสื่อมวลชน ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ให้ความสำคัญกับ การปฏิรูประบบ การบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารภาครัฐ จะต้องปรับเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยได้กำหนดเป้าหมาย ให้มีการพัฒนาบุคลากรของรัฐในด้านการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ในยุคดิจิทัล จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อจะจัดทำหลักสูตรพัฒนาบุคลากรด้านการประชาสัมพันธ์และสื่อสารยุคดิจิทัลขึ้นมาสอดคล้องยุคสมัยใหม่นี้

“จากที่คณะกรรมการและสมาชิกสมาคม มีความรู้และประสบการณ์ตรงในพื้นที่่มานาน รวมทั้งมีเครือข่ายคนทำงานด้านประชาสัมพันธ์และสื่อสารจากทั้งภาครัฐ เอกชนและเครือข่ายภาคประชาสังคมจากหลากหลายองค์กร จะได้ร่วมกันกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดทำหลักสูตรสำหรับพัฒนาบุคลากรและประชาชนผู้สนใจที่เหมาะสม มีประโยชน์และได้มาตรฐานทางวิชาการ ผู้รับการฝึกอบรมสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานได้จริงในหน่วยองค์กร รวมทั้งนำไปใช้ในอาชีพส่วนตัวได้ด้วย” นายชาญสิทธิ์ ฝางชัยภูมิ กล่าว

 

ส่วน รองศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำความมือทางวิชาการด้านการประชาสัมพันธ์และสื่อสารยุคดิจิทัลในครั้งนี้ มีเป้าหมายอย่างน้อย 5 หลักสูตรในปี 2567 นี้ และทุกหลักสูตรจะสอดคล้องกับความต้องการของบุคลากรหน่วยงานรัฐ เอกชนและประชาชนในการสื่อสารในยุคปัจจุบัน มหาวิทยาลัยขอนแก่นและสมาคมช่างภาพผู้สื่อข่าวโทรทัศน์จังหวัดขอนแก่น จะให้ความสำคัญกับการได้ศึกษาเรียนรู้ที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งเป็นภารกิจของสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่่มีหน้าที่ในการประสานบริการวิชาการสู่สังคม (Community Outreach) ดำเนินการให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อร่วมขับเคลื่อนการให้บริการวิชาการในรูปแบบของการสร้างคุณค่าร่วมกัน (CSV; Creating Shared Value) มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อการพัฒนาสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการ (MOU หรือ MOA) เพื่อร่วมกันสรรสร้างโครงการหรือกิจกรรมในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนถ่ายทอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการพัฒนาสังคม.

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง