ม.ขอนแก่น ร่วมกับบุคลากรสาธารณสุข อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น จัดประชุมร่วมศึกษาวิจัย ป้องกันและลดการป่วย-ตาย ด้วยมะเร็งตับและท่อน้ำดี

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565 รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน เวชศาสตร์ครอบครัวและอาชีวเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นหัวหน้าโครงการวิจัยเพื่อประเมินประสิทธิผลและประสิทธิภาพของรูปแบบการให้สุขศึกษาและการสื่อสารในระดับชุมชนโดยวิธีการที่ปรับปรุงจากเดิมเพื่อป้องกันโรคมะเร็งท่อน้ำดีในจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยทีมวิจัยได้แก่ รศ.ดร.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ รศ.ดร.น้อมจิตต์ นวลเนตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น


ดร.ภญ.สุกัณฑา หมวดทอง วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดขอนแก่น ดร.ไพฑูรย์ พรหมเทศ และ นพ.ธนพล ศรีวงศ์ โรงพยาบาลสิรินธร จังหวัดขอนแก่นและ นายฉลองพล สารทอง นักศึกษาปริญญาเอกหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาการพัฒนาสุขภาพชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดประชุมการสนทนากลุ่มร่วมกับบุคลากรสาธารณสุขในอำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บข้อมูลในการออกแบบการแทรกแซงการให้สุขศึกษาและการสื่อสารในระดับชุมชนโดยวิธีการที่ปรับปรุงจากเดิม เพื่อป้องกันโรคมะเร็งท่อน้ำดี อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น ในโอกาสต่อไป

รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ กล่าวว่า โรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี เป็นปัญหาสุขภาพทางสาธารณสุขที่พบบ่อย จากสถิติระดับนานาชาติพบว่า มะเร็งท่อน้ำดีมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 10-20 ของโรคมะเร็งตับทั้งหมด สถิติโรคมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดีในประเทศไทยในปี พ.ศ.2531 และปี พ.ศ.2555 พบว่า มีความชุกที่ปรับค่าตามอายุมาตรฐานแล้วในผู้ชายเท่ากับ 40.5 และ 33.9 ต่อประชากรแสนคน ส่วนในผู้หญิงเท่ากับ 16.3 และ 12.9 ต่อประชากรแสนคน ผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีมีอัตราตายในระยะ 1 ปีหลังการวินิจฉัยสูงถึงร้อยละ 81.7 จึงนับว่า เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญมาก ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดีคือ การติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่มีความเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน อีกทั้งมีมิติความเป็นปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยปกป้องที่ควรทำศึกษาร่วมด้วย ดังนั้น จึงได้ทำโครงการวิจัยเกี่ยวกับการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆต่อการโรคมะเร็งท่อน้ำดี พร้อมๆ กันไปกับการเพิ่มปัจจัยต่างๆ ที่ช่วยปกป้องไม่ให้เป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งเป็นมาตรการที่น่าจะลดอัตราการโรคมะเร็งท่อน้ำดีได้

“โครงการวิจัยนี้ จะเป็นการประเมินประสิทธิผลและประสิทธิภาพของรูปแบบการให้ความรู้และการสื่อสารในระดับชุมชน (ที่ปรับแต่งใหม่) ในการเพิ่มพูนความรู้และปรับพฤติกรรมของประชากรในพื้นที่เป้าหมาย ที่จะนำไปสู่การป้องกันโรคมะเร็งท่อน้ำดีในจังหวัดขอนแก่น โดยจะวัดผลที่ปัจจัยเอื้อกับปัจจัยถ่วงของการดำเนินมาตรการให้ความรู้แก่ประชาชนและปัจจัยที่ทำให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อพยาธิ รวมทั้งการศึกษาช่องทางและวิธีการ ในการผสมผสานแนวคิดหรือรูปแบบการทำงานของโครงการนี้ จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ เพื่อการขยายผลและความยั่งยืนในการดำเนินงานต่อไปด้วย” รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ กล่าวในตอนท้าย

//////////// ไพฑูรย์ พรหมเทศ ผู้สื่อข่าวจังหวัดขอนแก่น รายงาน ////////////

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง