เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมขอนแก่น ดีใจหลังมิลค์บอร์ดปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบ 2.25 บาทต่อกิโลกรัม พร้อมระบุแม้จะปรับขึ้นราคาแต่ต้นทุนยังคงแพงอยู่ โดยเฉพาะค่าอาหารที่ปรับราคาขึ้นกระสอบละกว่า400 บาทแล้ว
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 9 ก.ค.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังจากที่ประธานคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือ มิลค์บอร์ด เห็นชอบ 3 มาตรการ ประกอบด้วยการปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบ หน้าศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบในปี 2565 จากกิโลกรัมละ 17.50 บาทเพิ่มขึ้น กิโลกรัมละ 2.25 บาท เป็นกิโลกรัมละ 19.75 บาท การเห็นชอบปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมโค หน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม ในปี 2565 จากกิโลกรัมละ 19 บาท เป็น 20.50 บาท และภาครัฐชดเชยให้ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ 0.75 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 270 ล้านบาท โดยจะมีการนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติตามขั้นตอนนั้นทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในเขต จ.ขอนแก่น ให้ความสนใจและดีใจกับการแก้ไขปัญหาเรื่องราคานมตกต่ำอย่างมาก โดยเฉพาะกับการปรับขึ้นคาราน้ำนมดิบ ขึ้นอีก 2.25 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากเป็นราคาที่เหมาะสมแม้จะไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้องหรือความต้องการของเกษตรกรก็ตาม
นายสุธน พลายพูล เจ้าของคำใหญ่ฟาร์ม ซึ่งตั้งอยู่ ริม ถ.มิตรภาพ บ.ซำจาน ต.บ้านค้อ อ.เมือง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า การปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบ เดิมเกษตรกรต้องการให้ปรับขึ้นราคาเป็น 3 บาทต่อกิโลกรัม แต่มติตามที่มิลค์บอร์ด ได้พิจารณาอนุมัติออกมาที่ 2.25 บาทต่อกิโลกรัมนั้นโดยส่วนตัวนั้นดีใจและรับได้ เพราะดีกว่าไม่มีการปรับราคาใดๆ ปัจจุบันฟาร์ม ส่งน้ำนมดิบให้กับสหกรณ์ฯ ในราคา กิโลกรัมละ 19 บาท แต่ด้วยราคาวัตถุดิบต้นทุนที่แพงขึ้น เหมือนกับจะรู้ว่า ราคาน้ำนมดิบจะแพงขึ้นจึงพากันปรับราคารอล่วงหน้า โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป ซึ่งเดิม กระสอบละ 326 บาทก็มีการปรับราคามาที่กระสอบละ 404 บาท
“ที่ฟาร์มมีวัวทั้งหมดกว่า 100 ตัว โดยจะต้องให้อาหารต่อตัวต่อวันอยู่ที่ประมาณ 30-35 กก. ซึ่งเฉลี่ยต้นทุนค่าอาหารจะอยู่ที่ กก.ละ 4 บาท แต่ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาราคาอาหารปรับขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาหารสำเร็จรูป ปรับเป็น ประสอบละ 404 บาท จากเดิม กระสอบละ 326 บาท,ข้าวโพด กก.ละ 2.10 บาท,ฟางข้าว เดิม กก.ละ 2 บาทปรับเป็น กก.ละ 2.50 บาท,มันสำปะหลัง เดิม กก.ละ 7 บาท ปรับเป็น 8-9 บาท และ ถั่วเหลือง เดิม กก.ละ 14 บาทปรับเป็น กก.ละ 20 บาทขณะที่น้ำนมดิบที่ได้จะอยู่นั้นจะอยู่ที่ตัวละประมาณ 14 กก.เท่านั้น”
นายสุธน กล่าวต่ออีกว่า การปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบอีก กก.ละ 2.25 บาท นั้นก็จะทำให้ราคากลางจะอยู่ที่ 19.75 บาทต่อ กก. ขณะที่การส่งจำหน่ายให้กับสหกรณ์ฯก็จะปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามด้วยราคากลางที่ปรับขึ้นแม้จะเป็นข่าวดี แต่ที่ผ่ามาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมหลายรายก็ต้องยุติกิจการไป หรือส่งต่อการจำหน่ายจากสหกรณ์ มาเป็นรูปแบบส่วนตัวแทน เนื่องจากทนต่อภาวะต้นทุนราคาค่าอาหารไม่ไหว จึงอยากให้รัฐบาลได้ควบคุมราคาค่าอาหาร หรือช่วยเหลือเกษตรกรในด้านอื่นๆด้วยทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ และต้นทุนต่างๆ ที่มีการปรับราคาขึ้น เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงนมนั้นมีสภาพคล่องในการบริหารจัดการ เพราะเมื่อบวก ลบ คูณ หาร ทั้งต้นทุนค่าอาหาร ราคาน้ำนมดิบที่ได้ ทำให้เกษตรกรจะเหลือค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อตัวต่อวันเพียงไม่กี่บาทเท่านั้น
Leave a Response