เสียงชาวนาขอนแก่น ปุ๋ยแพงขึ้นเท่าตัว แต่ราคาข้าวเปลือกยังต่ำ (มีคลิป)

ชาวนาเมืองขอนแก่นบ่นอุบ! ราคาปุ๋ยแพงขึ้นกว่าเท่าตัว โชคดีปีนี้น้ำมากหลังจากที่เขื่อนปล่อยน้ำมาเริ่มลงแปลงหว่านข้าวนาปรัง คาดปีนี้ได้ผลผลิตดี แม้ราคาข้าวสารเริ่มปรับตัวสูงแต่ราคาข้าวเปลือกยังต่ำ วอนรัฐดูแลเรื่องราคาปุ๋ยและราคารับซื้อข้าวเปลือก

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 26 ม.ค.2565 ที่แปลงนาของเกษตรกรบ้านบึงอีเฒ่า ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น เกษตรกรต่างลงแปลงเพื่อหว่านเมล็ดพันธ์ข้าวทำนาปรัง หลังจากมีการไถเตรียมแปลง นายคลอง ปานิคม เกษตรกรบ้านบึงอีเฒ่า หมู่ 5 บอกว่า ตนมีที่นาไว้ปลูกข้าวอยู่ 3 ไร่ หลังจากที่เก็บเกี่ยวข้าวนาปีไปตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา ได้ทำการเตรียมแปลงจนกระทั่งเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมาเขื่อนอุบลรัตน์ได้ระบายน้ำลงลำน้ำพองเพื่อให้เกษตรกรได้ทำนาปรัง วันนี้ตนและเพื่อนเกษตรกรอีกหลายแปลงเริ่มลงมือหว่านข้าว คาดว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งปีนี้ถือว่าน้ำมากผลผลิตน่าจะดี แต่ราคาปุ๋ยมีราคาสูงมากปัจจุบันราคากระสอบละ 1,300 บาทจากเดิมที่ซื้อเพียง 600 – 700 บาทส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ขณะที่ราคาข้าวเปลือกยังคงมีราคาต่ำ โดยช่วงนาปีที่ผ่านมานำข้าวเปลือกไปขายในราคา กก.ละ 7 บาทถือว่าต่ำมาก แต่ดีที่ช่วงนี้ขยับขึ้นมาเป็น กก.ละ 10 บาท ตอนนี้ต้องทำนาไปลุ้นไปว่าจะขายได้ราคาเมื่อหักต้นทุนแล้วจะพอเหลือได้นำไปใช้จ่ายหรือไม่

ขณะที่ นายประหยัด อุ่นจันที เกษตรกรบ้านนาเพียง ต.ศิลา บอกว่า ตนมีที่ดิน 9 ไร่ แบ่งทำนา 7 ไร่ เมื่อ 2 ปีก่อนแล้งหนักไม่สามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ แต่มาปีที่ผ่านมาผลผลิตดีแต่ราคาขายข้าวเปลือกตกต่ำ อีกทั้งราคาปุ๋ยปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งปัจจุบันสูงถึงกระสอบละ 1,350 บาท ส่วนราคาข้าวเปลือกที่รับซื้อก็ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ กก.ละ 10 บาท อย่างไรก็ตามอยากให้ราคาปุ๋ยอยู่ที่ไม่เกินกระสอบละ 1,000 บาท และข้าวเปลือกรับซื้อในราคา 11 บาทขึ้นไปถึงจะอยู่ได้ เพราะหากยังเป็นเหมือนปัจจุบันเท่ากับทำไปก็ขาดทุน

ขณะที่ข้อมูลจากโครงการชลประทานขอนแก่น สำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยจำนวนพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง ปี 64/65 ว่า จังหวัดขอนแก่นมีพื้นที่ปลูกข้าวในเขตชลประทาน 228,000 กว่าไร่ ส่วนปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ถือได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีปริมาณร้อยละ 74.59 ของความจุ ระบายน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค เพื่อการเกษตรและรักษาระบบนิเวศน์ปริมาณวันละ 7.16 ล้าน ลบ.ม.โดยมีแผนระบายน้ำตลอดฤดูแล้งกว่า 900 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าจะเพียงพอตลอดฤดูแล้งสำหรับทั้งการอุปโภคบริโภคและการเกษตร

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง