ปภ.ขอนแก่น ระดมช่วย “บ้านคุยโพธิ์ – บ้านปากเปือย” ต.บึงเนียม จุดรวมน้ำพอง-น้ำชี (มีคลิป)

news2021_Facebook16666666666

นายพีระพงษ์ หมื่นผ่อง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดขอนแก่น สั่งระดมเรือเข้าพื้นที่ตำบลบึงเนียม อ.เมือง จ.ขอนแก่น โซนรับมวลน้ำพองเข้าหนุนลำน้ำชีท่วมบ้านเรือนประชาชน ซึ่งการช่วยเหลือยังเข้าไม่ถึง พร้อมประสานผู้นำจัดเวรยามเฝ้าระวังน้ำพองตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งมีปริมาณปริ่มพนังกั้นไม่ให้ไหลลงคลองชลประทานไปรวมกับน้ำชี

          เมื่อเวลา 21.00 น. วันที่ 9 ต.ค.2564 นายพีระพงษ์ หมื่นผ่อง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดขอนแก่น พร้อมนายกเทศมนตรีตำบลบึงเนียม , กำนันตำบลบึงเนียม , ผู้ใหญ่บ้านคุยโพธิ์ หมู่ 6 , ผู้ใหญ่บ้านปากเปือย หมู่ 7 และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง เร่งสำรวจประเมินสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่บ้านคุยโพธิ์ หมู่ 6 และบ้านปากเปือยหมู่ 7 ต.บึงเนียม อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับลำน้ำพองและลำน้ำชี และจากการระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ทำให้มวลน้ำจากเขื่อนซึ่งไหลลงสู่ลำน้ำพองเข้าหนุนน้ำชีในพื้นที่ น้ำเพิ่มปริมาณสูงเข้าท่วมหมู่บ้านอย่างรวดเร็ว โดยระดับความสูงของน้ำในหมู่บ้านนั้นอยู่ที่ 50-80 ซม. และบางจุดมีความลึกถึง 1.80 เมตร ต้องสัญจรด้วยเรือเท่านั้น อีกทั้งยังพบว่าระดับน้ำยังจะสูงขึ้นเพิ่มเติมอย่างช้าๆ โดยทาง ปภ.ขอนแก่น ได้ระดมเรือทั้งเรือเล็ก เรือใหญ่ พร้อมเครื่องยนต์และเสื้อชูชีพ จากพื้นที่น้ำท่วมที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายและทรงตัว ทั้งในขอนแก่น อุดรธานี และสกลนคร รวมทั้งเรือของเจ้าหน้าที่ทหาร เข้ามาสแตนด์บายคอยช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในการสัญจรเข้า-ออกหมู่บ้าน ช่วยขนย้ายข้าวของให้กับประชาชน และอพยพประชาชนออกจากหมู่บ้านทันที หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ขณะที่เจ้าหน้าที่ชลประทานที่ 6 ยังคงเดินหน้ายกความสูงของพนังกั้นน้ำขึ้นต่อเนื่องทั้งวันทั้งคืน เพื่อป้องกันมวลน้ำพองที่ล่าสุดมีระดับอยู่เสมอกับแนวพนังกั้นน้ำเดิมและกำลังจะไหลเข้าสู่คลองชลประทานไปจรดกับน้ำชีหากไม่ยกระดับพนักงกั้นน้ำขึ้น

นายพีระพงษ์ หมื่นผ่อง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ดังกล่าวนี้ ยังไม่สามารถวางใจได้ เนื่องจากที่เจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่สำรวจพนังกั้นลำน้ำพอง 3L พบว่าน้ำพองได้หนุนสูงปริ่มพนังกั้นน้ำจะไหลลงสู่คลองชลประทานแล้ว ซึ่งหากน้ำพองเอ่อล้นพนังกั้นเข้าไหลเข้าคลองชลประทาน ก็จะเกิดปัญหาใหญ่ขึ้น น้ำพองจะไหลเข้าไปรวมกับน้ำชีอย่างรวดเร็ว และไหลเข้าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจเมืองทั้ง 4 ตำบล ประกอบด้วยตำบลในเมือง ต.ศิลา ต.พระลับ ต.บึงเนียม ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีพื้นที่นาข้าวที่กำลังออกรวงอยู่ประมาณ 30,000 ไร่ โดยทางเจ้าหน้าที่ชลประทานที่ 6 ได้นำรถแมคโครทั้งเล็กใหญ่ เร่งยกพนังกั้นน้ำให้สูงขึ้นอีก เพื่อป้องกันมวลน้ำพองที่ล่าสุดนั้นปริ่มพนังกั้นน้ำจะไหลเข้าคลองแล้ว

ซึ่งในวันนี้ได้ร่วมพูดคุยติดตามสถานการณ์กับทางผู้นำของตำบลและผู้นำชุมชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยจะจัดทีมลาดตระเวนเพื่อเฝ้าดูมวลน้ำพองไม่ให้ทะลักผ่านพนังกั้นน้ำตลอดทั้งคืนในวันนี้ ในส่วนของการช่วยเหลือนั้น ทางปภ.เองเพิ่งได้รับการประสานจากผู้นำชุมชนว่าในพื้นที่นั้นยังไม่ได้รับการช่วยเหลือในทุกด้าน จึงได้สั่งการให้นำเรือของ ปภ.ขอนแก่น ที่ออกช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เริ่มคลี่คลายให้มาสแตนด์บายช่วยเหลือชาวบ้านประจำทุกตลอดตลอดแนวหมู่บ้าน พร้อมทั้งนำไฟส่องสว่างมาติดตั้ง เพื่ออำนวยความสะดวกในเวลากลางคืนให้กับชาวบ้าน รวมทั้งรถใหญ่ของทางปภ.ด้วย และในวันพรุ่งนี้ทาง ปภ.ก็จะประเมินสถานการณ์ร่วมกับผู้นำท้องถิ่นและผู้นำชุมชนอีกครั้งในการเฝ้าระวังมวลน้ำและหาแนวทางช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

ด้าน นางสาวเมธิกา หว่างแสง อายุ 28 ปี อยู่บ้านเลขที่ 5 บ้านปากเปือย หมู่ 7 ต.บึงเนียม อ.เมือง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า น้ำที่เห็นนี้มาจากลำน้ำพองที่เขื่อนอุบลรัตน์ปล่อยลงมาเพื่อระบายน้ำ และไหลมาจรดกับลำน้ำชีทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นรวดเร็วและเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนอย่างที่เห็น โดยปริมาณน้ำในหมู่บ้านตอนนี้สูงขึ้นมาถึงหัวเข่า และลึกถึงเอวในบางจุด การเดินทางเข้าออกไปทำงานต้องอาศัยเรือเท่านั้น รถทุกชนิดไม่สามารถเข้าออกได้ ซึ่งโชคดีที่ทุกคนเคยมีประสบการณ์น้ำท่วมมาก่อน ทุกบ้านจึงได้มีการยกพื้นบ้านสูงกว่าถนนในทุกๆปี ทำให้ปีนี้ปริมาณน้ำแม้จะสูงแต่ก็ยังไม่เข้าท่วมในบ้าน ทำให้มีเวลาในการขนย้ายข้าวของขึ้นที่สูง การใช้ชีวิตการอยู่การกินจึงยังพอช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ในอนาคตหากน้ำยังท่วมอยู่และปัจจุบันก็ยังเพิ่มปริมาณขึ้นต่อเนื่อง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือน้ำดื่ม จากการติดตามสถานการณ์นั้นน้ำค่อยๆเพิ่มระดับอย่างช้าๆ คาดว่าอีกหลายวันน้ำจึงจะลดลง การใช้ชีวิตก็ต้องเผื่อเวลามากขึ้นในการเดินทาง และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์เพราะทุกคนมีประสบการณ์ในทุกๆปีที่เกิดน้ำท่วม

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง