ชาวบ้านวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งซ่อมแซมฝายห้วยสายบาตรขาด

ข่าวขอนแก่น Web Cover

ชาวบ้านวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งซ่อมแซมฝายห้วยสายบาตรขาด โทรศัพท์แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับคำตอบงบประมาณไม่เพียงพอ และยังหาเจ้าภาพเข้ามาซ่อมแซมยังไม่ได้ หวังสื่อมวลชนเป็นกระบอกเสียง

เมื่อเวลา 14.30 น.วันที่ 4 มิถุนายน 2567 ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้าน ชาวบ้านบึงเนียม ต.บึงเนียม อ.เมืองขอนแก่น ให้ลงพื้นที่ตรวจสอบ ความเสียหายของฝายน้ำล้นที่กั้นหนองเลิงใหญ่ ต.บึงเนียม อ.เมือง จ.ขอนแก่น ที่ทรุดตัวและพังเสียหายจากการถูกมวลน้ำจากหนองเลิงใหญ่ไหลผ่านกัดเซาะฝายดังกล่าวจนได้รับความเสียหาย  และช่วยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการซ่อมแซมในส่วนที่พังเสียหาย

ผู้สื่อข่าวจึงลงพื้นที่ไปยังที่ตั้งของฝาย โดยมีนายกฏสิทธิชัย จันดา อายุ 43 ปี ชาวบ้านบึงเนียม ต.บึงเนียม อ.เมืองขอนแก่น พาดูฝายที่เกิดการชำรุด ชื่อฝายห้วยสายบาตร ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านเลิง ม.8 ต.โคกสี อ.เมือง จ.ขอนแก่น พบป้ายที่ทำจากปูน มีสภาพเก่า ระบุข้อความในป้ายว่า “โครงการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อชุมชน/ชนบท อ่างเก็บน้ำห้วยสายบาตร รัฐบาลสร้างมอบให้ราษฎร บ้านเลิง ต.โคกสี อ.เมือง จ.ขอนแก่น โดยใช้งบประมาณ ปี 2549 เพื่อใช้ประโยชน์และดูแลรักษาร่วมกัน สำนักงานชลประทานที่ 6 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์”

ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ตัวฝายพังชำรุดและถูกน้ำเซาะขาด เพราะถูกมวลน้ำจากหนองเลิง หรือ ที่ชาวบ้านในพื้นที่เรียกว่า “หนองอีเลิง” ซึ่งเป็นแก้มลิงรับน้ำขนาดใหญ่ คาบเกี่ยวพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและจังมหาสารคาม ได้ไหลทะลักข้ามผ่านฝายอย่างหนัก จนทำให้พนังดินพังทลายลงมา รวมทั้งพนังปูนที่เพิ่งก่อสร้างก็ถูกน้ำกัดเซาะพังลงมาเช่นกัน

ทางด้าน นายกฏสิทธิชัย กล่าวว่า ตนเป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้น และอาศัยหนองเลิงใหญ่เป็นแหล่งในการหาปลาและสัตว์น้ำมาบริโภค ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของแหล่งน้ำและฝายห้วยสายบาตร โดยพบความผิดปกติของตัวฝาย ซึ่งเป็นฝายที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ถูกน้ำในหนองอีเลิง กัดเซาะจนเกือบขาด ซึ่งน้ำก้อนนี้เป็นน้ำที่สะสมมาตั้งแต่ฤดูฝนปี 2566 โดยหลังจากที่เห็นฝายเกิดความเสียหาย จึงได้โทรศัพท์แจ้งไปยังสำนักงานชลประทานที่ 6 แต่ทางชลประทานที่ 6 ได้ตอบกลับมาว่า ได้โอนย้ายฝายนี้ให้กับ อบต.โคกสี เป็นผู้ดูแลแล้ว จึงได้แจ้งไปยัง อบต.โคกสี ได้รับคำตอบว่า ตอนนี้ อบต. มีงบประมาณไม่เพียงพอ และยังหาเจ้าภาพที่จะเข้ามาซ่อมแซมยังไม่ได้

“เมื่อติดต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 2 หน่วยงานแล้ว แต่กลับยังไม่มีหน่วยงานไหนที่จะเข้ามาแก้ไข จึงได้นำคลิปวีดีโอและภาพไปโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก เพื่อหวังว่า จะมีหน่วยงานที่มีงบประมาณและเครื่องมือ ได้เข้ามาทำการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะหากปล่อยไว้แบบนี้ต่อไปโดยไม่ซ่อมแซม ฝายก็จะพังเสียหายไปมากกว่านี้ และน้ำที่อยู่ในหนองอีเลิงรวมทั้งพันธุ์ปลาชนิดต่าง ๆ ก็จะไม่หลงเหลือ ที่สำคัญ คือ ชาวบ้านที่อยู่ตอนบนของหนองอีเลิง ที่ใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคก็จะได้รับผลกระทบ ส่วนชาวบ้านที่อยู่ตอนล่างของฝาย โดยเฉพาะชาวบ้านที่อยู่ใกล้กับลำน้ำพองก็จะได้รับผลกระทบจากน้ำที่ไหลทะลักผ่านฝายนี้ จึงร้องเรียนกับสื่อมวลชน เป็นคนกลางประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้ามาแก้ไขโดยด่วน

///////////////////

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง