“ปะจัน” โดย “เขี้ยวจัน”
ที่นี่….ไม่ใช่คอลัมน์ร้องทุกข์ แต่เป็น การสังคมอุดมปัญญา ลุกขึ้นมา “ทวงสิทธิ” ของการเป็นพลเมืองผู้ตื่นรู้ เจ้าของคะแนนเสียงที่เลือก “ตัวแทน” ในทุกระดับ ของการปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารบ้านเมือง ด้วยข้าราชการ “ตัวแทน” จากส่วนกลาง ทุกกระทรวง ทบวง กรม…[ หน้ารวมบทความ ปะจัน ]
ขาอีกข้างที่ทำให้ประชาชนเดินหน้าแบบช้า หรือบางคนอาจเดินไม่ได้ ต้องนั่งลงจุกจ่อม ชักหน้าไม่ถึงหลัง หนี้ท่วม แก๊งค์ทวงหนี้ มาทวงเงิน บางบทอาจเป็นบทโหด โหด–ประหนึ่งทวงชีวิต คือ “หนี้”
ข้อมูลเหล่านี้ ผู้บริหารประเทศ ย่อมมีในมือ หากลงรากจริงจัง ย่อมต้องมีนโยบายจริงจังที่จะลงมือทำ แบบครบมิติ และมีเวลากำกับ เหมือนการทำแผนงานของบริษัทจำกัดมหาชน ที่ต้องมีตัวชี้วัด ต่างกันเพียง “บริษัทประเทศไทย จำกัด” กางแผนออกมาแล้ว มีปัจจัยรอบข้าง ที่เต็มไปด้วยผลประโยชน์ส่วนตน ส่วนพรรค ส่วนพวกพ้อง ส่วนรวมของประเทศชาติ …น้ำหนักจะถูกเขี่ยไปลงในส่วนใด กันเล่า….
ในยุคต้น ของการเข้ามาบริหาร ของ “รัฐบาลเศรษฐา” เมื่อราว 10 เดือนก่อน มีนโยบาย การแก้หนี้นอกระบบ โดยมอบให้กระทรวงมหาดไทย เป็นต้นเรื่อง สั่งการไปยัง “ผู้ว่าราชการทุกจังหวัด” ในการลงไปเจรจา ไกล่เกลี่หนี้นอกระบบ ปิดตัวเลข เมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ปรากฏ เป็นรายงาน ในสื่อมวลชน คือ มีผู้ลงทะเบียนเข้าไกล่เกลี่หนี้นอกระบบ จำนวน 46,926 ราย เจรจาสำเร็จ 27,434 ราย สามารถลดมูลหนี้ ได้ 1,061 ล้านบาท ( การเจรจา เป็นการลดดอกเบี้ย ไม่ใช่การยกหนี้ให้ลูกหนี้ )
รายงานตัวเลขหนี้ของประชาชน โดยภาพรวมของทั้งประเทศ เมื่อสิ้นไตรมาสแรก ณ 31 มีนาคม 2567 พบว่า มีมูลหนี้ ค้างชำระ หมายถึง ขาดการชำระ เกินกว่า 90 วัน ขึ้นไป ราว 763,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
1 กลุ่ม สินเชื่อส่วนบุคคล อาทิ เงินสดทันใจ จำนำรถมอไซด์ จำนำรถยนต์ จำนำโฉนดที่ดิน ที่เราเห็นโฆษณา กันโครมๆ ในทีวี นั่นแหละ รวมๆกัน กว่า 260,000 ล้านบาท มากโข สัดส่วนกว่า 1ใน 3 หรือราว 34 %
2 กลุ่ม สินเชื่อรถยนต์ หมายถึง การเช่าซื้อรถยนต์ ส่วนใหญ่คนไทย มักไม่ซื้อรถเงินสด ธุรกิจไฟแนนท์รถยนต์ จึงโตแบบก้าวกระโดด ความนิยมของคนไทย เมื่อพอมีเงิน จะดาวน์รถ มากกว่า นำเงินไปดาวน์บ้านพักอาศัย อยู่บ้านเช่า แต่ซื้อรถยนต์ ชาวกรุง อาจเป็นเพราะระบบขนส่งยังไม่สะดวก แต่ในหัวเมือง มีรถยนต์ มันโก้ บ่งบอกเศรษฐานะ ทางสังคม กลุ่มนี้มียอดหนี้รวมกัน ราว 240,000 ล้านบาท หรือ 1 ใน 3 ของ มูลหนี้รวม หรือ ราว 31.45 % ใกล้เคียงกับ หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล
3 กลุ่ม สินเชื่อบ้าน เค้กชิ้นนี้ เป็นของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ที่ลูกค้า ยังค้างหนี้ ส่งผลให้แบงค์ชะลอการปล่อยหนี้ ก้อนใหม่ ส่งผลโดยตรงกับยอดขายของธุรกิจอสังหาฯ ที่ลดลง ทั้งที่ ยังมีคนอยากมีบ้าน อีกมาก หนี้พอกพูน เป็น 199,000 ล้านบาท กว่า 1 ใน 4 ของมูลหนี้โดยรวม หรือราว 26.08 %
4 กลุ่มบัตรเครดิต ธุรกิจบัตรเครดิตถูกดิสรัปจากระบบออนไลน์ ที่สะดวกกว่า ยอดหนี้ รวม ราว 64,000 ล้านบาท หรือราว 8.39 %
เล่าต่อ ให้ครบ มิติของการ เกิดขึ้น–ตั้งอยู่– และยังคงอยู่ต่อไป มูลหนี้เหล่านี้ เมื่อปรากฏ ในระบบของธนาคารพาณิชย์ หน่วยงานกำกับดูแล คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย มีเกณฑ์ให้ แบงค์ที่มีมูลหนี้ ต้องตั้งสำรอง “หนี้สูญ” ส่งผลให้ ปล่อยเงินกู้ได้น้อยลง เพราะต้องเคลียร์ของเก่าออกไปก่อน
งานนี้ มีวิธี ให้ไปต่อ ซึ่งถูกกฎหมายด้วยนะ คือการ ยกหนี้ออกขาย ให้กับ ธุรกิจประเภทบริหารสินทรัพย์ หรือ เรียกว่า Asset Management Corporation-AMC เพื่อนำมูลหนี้ไปบริหาร หรือเรียกกันเข้าใจง่าย ว่า ไปตามหนี้ บี้ต่อ กับลูกหนี้ ซึ่ง เราจะพบข่าวว่า มีการประมูลหนี้ เจ้าโน้น เจ้าหนี้ ได้รับงานไป นั่นแหละ ใช่เลย
ลูกหนี้ เปลี่ยน เจ้าหนี้ จากแบงค์ไปเป็น บริษัท ที่เขาประมูลหนี้ไป การเจรจา การทวงหนี้ ก็จะเริ่มวงรอบใหม่ อีกครั้ง …….
“หนี้” …. เกิดขึ้น–ตั้งอยู่– และยังคงอยู่ ต่อไป
“มือเศรษฐกิจ” ของ “รัฐบาลเศรษฐา” ที่ว่า “มือแน่ๆ” เจองานท้าทายเข้าแล้ว ขึ้นอยู่แต่ว่า จะลงมือทำไหม ให้ย้อนกลับไปอ่าน ย่อหน้าที่ 2 ของบทความนี้ กันนะ..
Leave a Response