มข.ร่วมกับสทร. พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีระบบรางของประเทศ

E3F21868-577E-480D-8926-D88096219C0E

สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน)  หรือ สทร. เดินหน้าร่วมบันทึกข้อตกลงภายใต้ความร่วมมือ กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นแห่งแรกของประเทศไทย พร้อมชูให้ มข. เป็นเสาหลักของแผ่นดินด้านวิศวกรรมศาสตร์ ในการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีระบบรางของภาคอีสาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบเศรษฐกิจเข้าสู่ทุกภาคส่วน สร้างประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ

สทร. เดินหน้า MOU กับ มข. แห่งแรกของประเทศไทย พร้อมชูให้เป็นเสาหลักของแผ่นดินด้านวิศวกรรมศาสตร์ ในการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีระบบรางของภาคอีสาน
สทร. เดินหน้า MOU กับ มข. แห่งแรกของประเทศไทย พร้อมชูให้เป็นเสาหลักของแผ่นดินด้านวิศวกรรมศาสตร์ ในการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีระบบรางของภาคอีสาน

เมื่อวันศุกร์ที่ 8 กันยายน 2566 เวลา 09.00 – 10.30 น. ณ ห้องประชุมสารสิน อาคารสิริคุณากร  มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีระบบรางของประเทศ กับสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร.  โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี กล่าวต้อนรับ และกล่าวถึงความร่วมมือฝ่ายมหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.ดร.โชติชัย เจริญงาม ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง  กล่าวถึงที่มาของความร่วมมือและการร่วมลงนาม พร้อมผู้ร่วมลงนามเป็นพยานทั้งสองฝ่าย ดังนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบด้วย  รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ   รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ รศ.ดร.ชูพงษ์ ทองคำสมุทรคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  และสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน)  ประกอบด้วย ผศ.ดร.สันติ เจริญพรพัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันฯ เป็นผู้ลงนาม  รศ.ดร.วสันต์ ธีระเจตกูล ที่ปรึกษาสถาบันฯ และนายปกรณ์ เกตุแย้ม นักวิเคราะห์วิชาการอาวุโส  โดยมี ศ.ดร.ปริญญา  จินดาประเสริฐ อดีตอธิการบดี ผู้บริหาร คณาจารย์ และสื่อมวลชนเข้าร่วมเป็นเกียรติและทำข่าวในพิธีลงนาม

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นรู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (สทร.) ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาศูนย์การทดสอบคุณภาพและมาตรฐาน สำหรับผลิตภัณฑ์โครงสร้างพื้นฐานในระบบราง รวมทั้งการเชื่อมโยงไปสู่องค์กรเครือข่ายที่มีระบบทดสอบคุณภาพและมาตรฐานต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และได้เปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีส่วนร่วมในความร่วมมือเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง รวมทั้งสร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับระบบราง เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ตลอดจนเพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ภายในประเทศ รวมทั้งความร่วมมือเพื่อถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางระหว่างหน่วยงาน โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกรอบและวิธีการทำงาน เครื่องมือที่ใช้สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี ตลอดจนผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ รวมถึงความร่วมมือเพื่อการพัฒนาศักยภาพและทักษะของบุคลากรที่เกี่ยวข้องจากการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง

รศ.ดร.โชติชัย เจริญงาม ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน)
รศ.ดร.โชติชัย เจริญงาม ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน)

รศ.ดร.โชติชัย เจริญงาม ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน)  กล่าวว่า สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม มีความยินดีที่ได้ร่วมลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นในครั้งนี้  สทร.เป็นหน่วยงาน                พัฒนาวิจัยแห่งแรกที่ก่อตั้งขึ้นมา ด้วยเห็นความสำคัญจำเป็นของประเทศ ที่จะมีการขยายโครงสร้างพื้นฐานระบบรางไปทั่วประเทศ และเพื่อให้มีการดำเนินงานทางยุทธศาสตร์การพัฒนาทางเทคโนโลยีที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน กระทรวงคมนาคมจึงได้จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนการพัฒนาและเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงกับหน่วยงานสำคัญของประเทศ

อดีตที่ผ่านมา กระทรวงฯ เน้นการก่อสร้างเป็น สินทรัพย์ที่อยู่ในกระทรวงคมนาคมไม่ว่าจะเป็น ถนน ราง สนามบิน มีมูลค่ารวมกัน หลานร้อยล้านๆบาท โดยเฉพาะระบบราง รฟท. รฟม. มีสินทรัพย์ไม่น้อย ถ้าหากเรามีการวิจัยและพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ แค่ 1% จะมีผลตอบแทนมีมูลค่านับหมื่นล้านบาทหลัก จึงเป็นเหตุผลที่เราจะต้องหันมาเห็นความสำคัญของงานวิจัยและพัฒนา จนกระทั่ง รศ.ดร.วสันต์ ธีระเจตกูล ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) เข้ามาดูระบบการวิจัยและระบบรางของภาคอีสาน และเข้าร่วมหารือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นจนได้บทสรุปว่า ถึงเวลาแล้วที่ มข.ต้องเป็นเสาหลักของแผ่นดินในเรื่องของวิศวกรรมศาสตร์และการบูรณาการศาสตร์ต่างๆ ทั้งสถาปัตยกรรมศาสตร์ และทางเศรษฐศาสตร์ โดยเป้าหมายในการทำงานร่วมกันทำให้ มข.เป็นศูนย์ในการพัฒนามาตรฐาน ศูนย์ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และศูนย์การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบราง การร่วมมือครั้งนี้จะเน้นเรื่องของการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีระบบรางผลักดันสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง การแลกเปลี่ยนถ่ายทอดเทคโนโลยีความรู้ การวิจัยที่จะให้เกิดการผลิตภายในประเทศ (Local Content) เกิดการพัฒนาระบบเศรษฐกิจเข้าสู่ทุกภาคส่วนในภาคอีสาน ในประเทศ และต่างประเทศ รวมถึง ความร่วมมือ เพื่อการพัฒนาศักยภาพและทักษะของบุคลากรจากการวิจัยและพัฒนา  สทร.เราจึงมีความมั่นใจอย่างสูงว่าการบันทึกข้อตกลงภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นเป้าหมายหลักที่สำคัญที่สุดในการที่จะผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีโดยใช้ระบบรางเป็นแกนหลักในการพัฒนาประเทศโดยมีจุดเริ่มต้นที่ มข. เป็นแห่งแรกของประเทศ ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ได้ร่วมลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อ มข.และ สทร.เราจะได้ร่วมกันทำงานในอนาคตเพื่อให้เกิดสัมฤทธิผลและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศต่อไป

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย สำนักบริการวิชาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นหน่วยงานสำคัญที่มีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง โดยเป็นศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญทางด้านระบบรางที่มีความรู้ความสามารทั้งในด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีระบบราง ด้านการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง และด้านการพัฒนาบุคลากรและการฝึกอบรม ด้วยองค์ความรู้ ประสบการณ์ และโครงสร้างพื้นฐานที่มีในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพในการช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง รวมทั้งสร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับระบบรางของประเทศ

การจัดทำบันทึกข้อตกลงนี้ ทั้งสองฝ่ายมีวัตถุประสงค์เพื่อความร่วมมือในการพัฒนาศูนย์การทดสอบคุณภาพและมาตรฐาน สำหรับผลิตภัณฑ์โครงสร้างพื้นฐานในระบบราง ซึ่งมีการดำเนินการอยู่และที่จะพัฒนาเพิ่มเติมขึ้นในอนาคต รวมทั้งการเชื่อมโยงไปสู่องค์กรเครือข่ายที่มีระบบทดสอบคุณภาพและมาตรฐานต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้เพื่อสนับสนุน การบริการการทดสอบ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ตลอดจนเพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

ภาพ ข่าว : เบญจมาภรณ์  มามุข

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง