พนักงานพาร์ทไทม์กู้ซื้อบ้านได้หรือไม่

พนักงานพาร์ทไทม์กู้ซื้อบ้านได้หรือไม่

พนักงานพาร์ทไทม์กับการกู้ซื้อบ้าน หลายคนยังคงมีคำถามอยู่ว่าสามารถทำได้หรือไม่ เพราะพนักงานพาร์ทไทม์อาจจะขาดเอกสารบางอย่าง ทำให้เกิดข้อจำกัดบางอย่างในการกู้ซื้อบ้าน กลายเป็นที่มาของคำถามดังกล่าว ครั้งนี้ทางบทความจึงนำเอาข้อมูลต่างๆ มาอธิบายให้เข้าใจโดยทั่วกัน ว่าแท้ที่จริงแล้วพนักงานพาร์ทไทม์นั้นสามารถกู้ซื้อบ้านได้หรือไม่

 

พนักงานพาร์ทไทม์ (Part-Time) คืออะไร?

ก่อนอื่นขออธิบายถึงคำว่าพนักงานพาร์ทไทม์ให้เข้าใจตรงกันก่อน พนักงานพาร์ทไทม์คือบุคคลทำงานที่ไม่ใช่ในรูปแบบของงานประจำ เป็นงานพาร์ทไทม์ รับเงินเป็นรายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือน ขึ้นอยู่กับการตกลงจ้างงานระหว่างผู้จ้างและผู้ถูกจ้าง

พนักงานพาร์ทไทม์ อาจไม่ได้ทำงานเต็มเวลาเหมือนพนักงานฟูลไทม์ หรือในบางกรณีก็อาจทำงานเต็มเวลาแต่ไม่มีสัญญาจ้างเหมือนพนักงานฟูลไทม์หรือพนักงานประจำ หรือเป็นเพียงสัญญาจ้างชั่วคราวเท่านั้น มักมีการกำหนดระยะเวลาจ้างเอาไว้ และที่สำคัญคือพนักงานพาร์ทไทม์มักจะ “ไม่มีสลิปเงินเดือน”

 

พนักงานพาร์ทไทม์ แตกต่างกับพนักงานประจำอย่างไร?

 ก่อนเข้าสู่เนื้อหาการอธิบายเรื่องขอกู้ซื้อบ้าน มาดูความแตกต่างระหว่างพนักงานพาร์ทไทม์และพนักงานประจำกันก่อน ความแตกต่างแรกก็คือระยะเวลาในการจ้าง การจ้างพนักงานพาร์ทไทม์ จะเป็นการจ้างชั่วคราว ส่วนการจ้างพนักงานประจำจะเป็นการจ้างระยะยาว และสวัสดิการระหว่างพนักงานพาร์ทไทม์และพนักงานประจำก็มักจะแตกต่างกัน พนักงานพาร์ทไทม์มักมีอัตราจ้างงานเป็นรายวัน ส่วนพนักงานประจำมีอัตราจ้างเป็นรายเดือน

 

ทำไมพนักงานพาร์ทไทม์กู้ซื้อบ้านยากกว่าพนักงานประจำ

 การกู้ซื้อบ้าน ผู้ให้กู้ต้องประเมินว่าผู้ขอกู้เงินมีความสามารถในการชำระหนี้หรือไม่ โดยเฉพาะหนี้ก้อนใหญ่ อย่างการกู้ซื้อบ้าน ที่มักมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าล้าน การกู้ซื้อบ้านจะต้องชำระหนี้เป็นรายเดือน ซึ่งค่างวดต่อเดือนก็เป็นจำนวนที่ค่อนข้างสูงพอสมควร ตั้งแต่หลักหลายพันบาทไปจนถึงหลักหมื่นบาท และเป็นหนี้ระยะยาว

คุณสมบัติหลักของผู้กู้เงินจะต้องมีความมั่นคงทางการเงิน ทำให้สถานะการถูกจ้างงานอาจมีส่วนในทางอ้อม แม้ผู้ให้กู้เงินอาจไม่ได้กำหนดคุณสมบัติชัดเจนว่าจะต้องเป็นพนักงานประจำ แต่การกำหนดเรื่องเอกสารที่ต้องใช้บางอย่าง เช่นสลิปเงินเดือน ก็กลายเป็นข้อจำกัดของพนักงานพาร์ทไทม์ทันที แต่ก็ไม่ใช่ว่าพนักงานพาร์ทไทม์จะไม่สามารถกู้ซื้อบ้านได้เลย เพราะในความเป็นจริงแล้วก็ยังพอจะมีหนทางอยู่บ้าง เพียงแต่พนักงานพาร์ทไทม์จะต้องแสดงให้เห็นว่ามีความสามารถมากพอที่จะชำระหนี้ได้ ผ่านเอกสารหรือหลักฐานการเงินบางอย่าง

 

ขั้นตอนการกู้ซื้อบ้านของพนักงานพาร์ทไทม์

 สำหรับขั้นตอนการกู้ซื้อบ้านของพนักงานพาร์ทไทม์ ทางบทความได้รวบรวมรายละเอียดมาให้ ดังนี้

1.เลือกบ้านที่ราคาไม่สูงนัก

พนักงานพาร์ทไทม์ส่วนหนึ่ง มีความไม่มั่นคงในด้านหน้าที่การงาน อาจส่งผลต้อความมั่นคงทางการเงินไปด้วย ดังนั้นการเลือกบ้านควรเลือกที่ราคาไม่สูงนัก เพราะถ้ายิ่งบ้านมีราคาสูง ก็จะทำให้การกู้ซื้อบ้านสำเร็จได้ยากยิ่งขึ้น เช่นถ้าหากเลือกกู้ซื้อบ้านราคา 5 ล้าน โอกาสกู้ผ่านก็จะยากกว่าบ้านราคา 1 ล้าน ความจริงแล้วแม้ว่าหลักการนี้ อาจใช้กับพนักงานประจำด้วยก็ตาม แต่ยิ่งในมุมของพนักงานพาร์ทไทม์ ที่อาจมีโอกาสน้อยกว่าพนักงานประจำเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงควรพิจารณาเรื่องนี้ให้มากขึ้นด้วย แนะนำให้เลือกบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท แต่ที่สำคัญก่อนตัดสินใจเลือกซื้อบ้านควรศึกษาว่าที่โครงการนั้นมีการบริหารคอนโดหรือบ้าน ได้ดีอย่างไรบ้าง เพื่อป้องกันปัญหาจุกจิกที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

 

2.ศึกษาข้อมูลสินเชื่อบ้าน

ลำดับถัดมาสำหรับการจะกู้ซื้อบ้าน เมื่อได้วงเงินที่ต้องการกู้แล้ว ให้ศึกษาสินเชื่อบ้าน ดูว่าวงเงินเท่านั้นมีสินเชื่อบ้านเจ้าไหนบ้างที่ให้บริการอยู่ พร้อมกับศึกษาเงื่อนไขของแต่ละสินเชื่ออย่างละเอียด เพื่อนำมาเปรียบเทียบกัน และใช้ข้อมูลเปรียบเทียบเหล่านั้นมาประกอบการพิจารณาเพื่อเลือกสินเชื่อให้เหมาะกับตัวเอง ศึกษาดูค่างวด ดอกเบี้ย ระยะเวลาในการผ่อนส่ง และอื่นๆ ให้ถี่ถ้วน

 

3.จัดอันดับสินเชื่อบ้านแล้วติดต่อ

เมื่อได้ข้อมูลของสินเชื่อแต่ละเจ้ามาแล้ว และเปรียบเทียบดูแล้ว แนะนำให้จัดอันดับสินเชื่อ โดยให้เจ้าที่น่าสนใจมากที่สุดอยู่อันดับ 1 เรียงจากความน่าสนใจมากไปน้อยตามลำดับ จากนั้นเข้าไปติดต่อที่อันดับ 1 ก่อน เพื่อเจรจา และถ้าหากเงื่อนไขเป็นไปตามความคาดหวัง ก็ทำเรื่องยื่นเอกสารตามข้อกำหนดของผู้ให้บริการ

 

4.เตรียมเอกสารให้พร้อม

เมื่อเข้าไปติดต่อผู้ให้บริการด้านสินเชื่อบ้านแล้ว จะมีการกำหนดมาว่าต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง อาทิ สลิปเงินเดือนหรือหนังสือรับรองเงินเดือน รายการเดินบัญชี เอกสารคนค้ำประกัน เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าบางครั้งไม่ใช่แค่เอกสารที่ต้องเตรียม เพราะบางอย่างก็ต้องไปตามหาก่อนถึงจะได้เอกสารมา อย่างเช่นคนค้ำประกัน ที่ต้องไปหาก่อนว่าใครจะสามารถมาค้ำประกันให้ได้ แล้วจึงจะได้เอกสารคนค้ำ และบางครั้งอาจต้องใช้เวลาสักหน่อย

 

สำหรับเอกสารที่พนักงานพาร์ทไทม์มักจะไม่มีเหมือนพนักงานประจำก็คือ “สลิปเงินเดือน” ส่วนนี้ผู้ให้บริการสินเชื่อบ้าน มักขอเอกสารอย่างอื่นแทน ยกตัวอย่างเช่น

  • รายการเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน เพื่อแสดงสถานะการเงินใน 6 เดือนของผู้ขอกู้ซื้อบ้าน
  • หนังสือรับรองรายได้เป็นงวดๆ จากผู้จ้างงาน สามารถแสดงความมั่นคงทางการเงินได้ หากเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ที่ถูกจ้างงานต่อเนื่อง
  • หลักฐานการเสียภาษีเงินได้ ซึ่งแสดงรายได้ทั้งปีของผู้ขอกู้ซื้อบ้าน ผู้ให้บริการสินเชื่อจะนำข้อมูลส่วนนี้มาวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้

 

5.ทำเรื่องกู้ซื้อบ้าน

เมื่อเอกสารพร้อมแล้วก็ทำเรื่องขอกู้ซื้อบ้าน ทางผู้ให้บริการสินเชื่อจะนำเอกสารของผู้ขอกู้ไปพิจารณาถึงความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งถ้าหากพบว่ามีประสิทธิภาพมากพอ ทางผู้ให้บริการสินเชื่อก็จะอนุมัติวงเงินให้ เป็นอันว่ากู้ซื้อบ้านผ่าน แต่ถ้าหากไม่ผ่าน ก็คงต้องลองเปลี่ยนไปยื่นเรื่องกับผู้ให้บริการสินเชื่ออันดับ 2 ที่ลิสต์ไว้

แม้จะเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ ถ้าหากมีความมั่นคงทางการเงิน หรือมีสิ่งที่แสดงให้เห็นว่ามีความสามารถที่จะชำระหนี้ได้ ทางผู้ให้บริการสินเชื่อก็พร้อมที่จะอนุมัติวงเงินให้อย่างแน่นอน ทั้งนี้สิ่งที่ควรทำก็คือออมเงินไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ให้มีเงินเก็บ และมีรายรับมากกว่ารายจ่ายและมีสัดส่วนของรายจ่ายที่น้อยกว่ารายรับมากพอที่จะจ่ายค่างวดรายเดือนได้แบบไม่เดือดร้อน เท่านี้ก็จะสามารถกู้ซื้อบ้านได้สำเร็จ

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง