ขอนแก่น–สาธารณสุข ร่วม อปท.ภาคีเครือข่าย พัฒนายกระดับสถานประกอบการปลาร้า-ปลาส้ม ให้ปลอดพยาธิใบไม้ตับ ลดเจ็บป่วยและเสียชีวิต

news2021_facebook_new

      เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.64 ดร.เกษร แถวโนนงิ้ว รองผู้อำนวยการ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 (สคร.7) จังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วย นายชัท เมืองโคตร สาธารณสุขอำเภอบ้านแฮด นายมาโนช พิลาโท นายกเทศมนตรีตำบลโคกสำราญ นายสุวิศิษฎ์ ช่างทอง ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น, นางศุภลักษณ์ พริ้งเพราะ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญการ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 ขอนแก่น, ดร.ไพฑูรย์ พรหมเทศ โรงพยาบาลสิรินธร จังหวัดขอนแก่น, เจ้าหน้าที่จากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานพัฒนาการอำเภอบ้านแฮด สำนักงานเกษตรอำเภอบ้านแฮด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)โคกสำราญ รพ.สต.บ้านดง และ รพ.สต.เล็บเงือก ตัวแทนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และผู้ประกอบการปลาร้าปลาส้มในพื้นที่ตำบลโคกสำราญ ร่วมการประชุมเรื่อง การพัฒนาสถานประกอบการปลาร้าและปลาส้มอำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น โดยการมีส่วนร่วม เพื่อยกระดับสถานประกอบการปลาร้าและปลาส้มตำบลโคกสำราญ ให้ได้คุณภาพมาตรฐานด้านความปลอดภัยและเพื่อการส่งเสริมการขายด้วย ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลโคกสำราญ อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น

      ทั้งนี้ จากพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ตามวิถีชีวิตแบบพื้นถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่นิยมบริโภคปลาร้า ปลาส้ม และปลาจ่อมแบบดิบๆ โดยไม่ผ่านความร้อนที่มีอุณหภูมิสูงให้นานเพียงพอที่ทำให้อาหารสุกอย่างทั่วถึง ยิ่งนำปลาน้ำจืดประเภท ปลาเกล็ดมาหมักดองเป็นปลาร้าหรือปลาส้มที่ไม่ถูกสุขลักษณะ จะยังมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงหรือเป็นสาเหตุในการก่อโรคมะเร็งท่อน้ำดี ที่เป็นปัญหาสุขภาพทำให้เจ็บป่วยและเสียชีวิตมากที่สุดของประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การป้องกันที่ดีจึงต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินปลาน้ำจืดที่สุกอย่างทั่วถึง ด้วยความร้อน เป็นการกำจัดเชื้อพยาธิใบไม้ตับและส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักรู้ถึงการป้องกัน รักษาสุขภาพและการจัดการอาหารพื้นบ้านให้ถูกสุขลักษณะตามหลักสุขาภิบาลอาหาร

      “กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนเลือกกินปลาส้ม ปลาร้า ที่สะอาดถูกหลักสุขาภิบาลอาหาร ช่วยลดโรคพยาธิใบไม้ตับ ส่วนผู้ประกอบการขอให้คำนึงถึงความสะอาดปลอดภัย เลือกวัตถุดิบหรือปลาที่มีคุณภาพ และมีระยะเวลาในการหมักที่เหมาะสม หากเป็นปลาส้มให้หมักนานมากกว่า 3 วัน ส่วนปลาร้าให้หมักนานมากกว่า 1 เดือนขึ้นไป โดยกระบวนการผลิตจะต้องมีเครื่องมือและเครื่องใช้ที่สะอาดมีมาตรฐาน และมาตรการป้องกันการปนเปื้อน น้ำที่ใช้ในการผลิตจะต้องมีคุณภาพน้ำดื่มตามมาตรฐานของกรมอนามัย สถานที่เก็บวัตถุดิบต้องสะอาดเป็นสัดส่วน มีการป้องกันการปนเปื้อน ส่วนผู้ปฏิบัติงานต้องมีสุขอนามัยดี” ดร.เกษร แถวโนนงิ้ว กล่าว.

ไพฑูรย์ พรหมเทศ รายงาน

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง