🚀 นาซาเพิ่มโอกาสชนโลกของ 2024 YR4 เป็น 1.5%
🌎 แนวเสี่ยงพาดผ่านแปซิฟิก, อเมริกาใต้, แอฟริกา, เอเชียใต้
🏙 8 เมืองใหญ่เสี่ยงรับผลกระทบมหาศาล
💥 พลังทำลายล้างเทียบระเบิดปรมาณู 500 ลูก
🛰 นาซา-จีน เร่งพัฒนาเทคโนโลยีเบี่ยงวิถีชน
#ภัยพิบัติ #ดาวเคราะห์น้อย #นาซา #อวกาศ #โลกอนาคต
นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์ศึกษาวัตถุใกล้โลก (CNEOS) ขององค์การนาซา (NASA) เปิดเผยว่าดาวเคราะห์น้อย “2024 YR4” มีโอกาสพุ่งชนโลกในวันที่ 22 ธันวาคม 2032 โดยล่าสุดเพิ่มโอกาสที่จะชนจากเดิมเป็น 1.5% ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่าอาจสร้างความเสียหายร้ายแรง
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญย้ำว่ายังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะชนโลกจริง เนื่องจากยังมีเวลาให้ศึกษาวงโคจรเพิ่มเติม ซึ่งอาจพบว่าโอกาสชนลดลงเหลือ 0%
แต่หากเกิดกรณีเลวร้ายที่สุด นักวิทยาศาสตร์ได้ประเมินเส้นทางความเสี่ยง (Risk Corridor) ที่อาจได้รับผลกระทบ ซึ่งพาดผ่านมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก, อเมริกาใต้ตอนเหนือ, มหาสมุทรแอตแลนติก, แอฟริกา, ทะเลอาหรับ และ เอเชียใต้ โดยพื้นที่เหล่านี้อาจกลายเป็นจุดตกของดาวเคราะห์น้อย
ในเส้นทางดังกล่าวมีหลายร้อยเมืองทั่วโลกที่อยู่ในแนวเสี่ยง แต่เมืองใหญ่ที่อาจได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ โบโกตา (โคลอมเบีย), อาบีจาน (โกตดิวัวร์), ลากอส (ไนจีเรีย), คาร์ทูม (ซูดาน), มุมไบ (อินเดีย), โกลกาตา (อินเดีย) และ ธากา (บังกลาเทศ)
หากดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 พุ่งชนพื้นที่ใดก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะรุนแรงอย่างมาก มีการคำนวณว่า รัศมีการทำลายล้างอาจกว้างถึง 50 กิโลเมตร โดยพลังงานจากแรงระเบิดเทียบเท่าระเบิด TNT ขนาด 8 ล้านตัน หรือราว 500 เท่าของระเบิดปรมาณูที่ทิ้งลงฮิโรชิมา
เพื่อลดความเสี่ยงจากอุกกาบาตชนโลก องค์การนาซาได้ประสบความสำเร็จในการทดสอบเทคโนโลยีเบี่ยงเบนเส้นทางของดาวเคราะห์น้อยในภารกิจ DART ปี 2022 โดยสามารถเปลี่ยนทิศทางของ “ไดมอร์ฟอส” (Dimorphos) ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า 2024 YR4 ถึง 2 เท่า
ขณะเดียวกัน จีนมีกำหนดทดสอบเทคโนโลยีเบี่ยงเบนวิถีของดาวเคราะห์น้อยในปี 2027 บนดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กกว่า ขณะที่หน่วยงานอวกาศหลายแห่ง รวมถึงองค์การภายใต้สหประชาชาติ กำลังพัฒนาแนวทางป้องกันและมาตรการฉุกเฉินเพื่อรับมือกับภัยจากอวกาศในอนาคต
Leave a Response