มท.ติวเข้มผู้ประกอบการโอทอปอีสานกลุ่มช่างทอผ้าและงานหัตถกรรมหวังสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ในถ้องถิ่นในทุกภูมิภาค อย่างมั่นคงและยั่งยืน

IMG_5671

ชมคลิป

เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 25 พ.ค. 2567 ที่ โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์  นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โอทอปประเภทผ้าและงานหัตถกรรม ในชื่อกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการโอทอปประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้าและงานหัตถกรรม (Coaching) ผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม  ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้กำหนดจัดกิจกรรมขึ้น โดยมี ผวจ.,ประธานแม่บ้านมหาดไทย,พัฒนาการจังหวัด และผู้ประกอบการโอทอปในกลุ่มช่างทอผ้าและงานหัตถกรรมเข้าร่วมกิจกรรมอย่างพร้อมเพรียง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กรมพัฒนาชุมชน รับหน้าที่สำคัญจากกระทรวงมหาดไทย สานต่อพระราชปณิธานอันแน่วแน่ ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ จ.อุบลราชธานี พร้อมพระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” ซึ่งเป็นลายที่ได้ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายผืนผ้าจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และทรงนำมาออกแบบลายพระราชทาน เนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ 6 รอบ 72 พรรษา โดยพระราชทานแบบตั้งต้นไว้ 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทผ้ากาบบัว, ประเภทผ้ายก, จก, ขิด, แพรวา, ประเภทผ้ามัดหมี่ และประเภทผ้าบาติก ซึ่งสามารถนำลายพระราชทานหลัก ทั้ง 4 ประเภทนี้ ไปถักทอผสมผสานกับลวดลายภูมิปัญญาพื้นถิ่นตามความคิดสร้างสรรค์ ต่อไป

  “โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการโอทอปประเภทผ้าและหัตถกรรม เป็นการสืบสาน ต่อยอดงานผ้าไทยและงานหัตถกรรม ตามแนวทางพระราชดำริ ของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาศักยภาพ องค์ความรู้ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้า และงานหัตถกรรม  ครอบคลุมใน  4  พื้นที่  ประกอบด้วย กระบี่ ,น่าน ,พระนครศรีอยุธยา และขอนแก่น โดยขอนแก่น เป็นจุดดำเนินการที่ 4 ครอบคลุมพื้นที่ใน 20 จังหวัด ภาคตะวันออกฉียงเหนือ  ซึ่งภายในงาน จะได้รับความรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและงานหัตถกรรม ประกอบไปด้วย  นักออกแบบเครื่องแต่งกายที่มีชื่อเสียง อาจารย์มหาวิทยาลัยในสาขาที่เกี่ยวข้อง”

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า การอบรมดังกล่าวได้เพิ่มในเรื่องของเทคนิคการจับคู่สีตามเทรนบุ๊ค (Thai Textiles Trend Book) เทคนิคการออกแบบลายพระราชทาน  เทคนิคการออกแบบผลิตภัณฑ์ ด้วยการใช้เส้นใยและวัสดุจากธรรมชาติ การสาธิตการย้อมสีธรรมชาติ หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การสร้างกลยุทธ์ทางการตลาด และการจำหน่าย (Marketing & Sale) และ การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้เป็นแฟชั่นร่วมสมัยซึ่งความรู้ เทคนิค และประสบการณ์ ที่ได้รับในโครงการ ยังสามารถนำไปพัฒนาและเพิ่มพูนองค์ความรู้ทักษะการทอผ้าของตนเองให้ดียิ่งขึ้น เพื่อร่วมกันสืบสาน รักษา และต่อยอดภูมิปัญญาด้านผ้าไทยสู่ชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนอีกด้วย

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง