องคมนตรีติดตามการบริหารจัดการน้ำชีที่ขอนแก่น

IMG_8780

วันนี้ 26 ม.ค. 67 นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี ในฐานะรองประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เดินทางมาประชุม ณ เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น โดยมี นายไกรสร กองฉลาด  ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังรายงานและติดตามการบริหารจัดการน้ำในลุ่มแม่น้ำชีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติและกรมชลประทาน รายงานว่าการเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก เขื่อนระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ ฝาย และแก้มลิง ในลุ่มแม่น้ำชีสามารถเก็บกักน้ำได้มากกว่า 4,600 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 79 โดยที่ 3 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว และเขื่อนจุฬาภรณ์ สามารถเก็บกักน้ำได้มากกว่า3,545 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งสูงกว่าปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมาถึง 186 ล้าน ลบ.ม. และมีการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำชีในช่วงฤดูแล้งนี้ประมาณ 10-15 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน ส่งผลให้มีปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อนระบายน้ำลุ่มแม่น้ำชี ตั้งแต่เขื่อนชนบทถึงเขื่อนธาตุน้อย มีปริมาณทั้งสิ้น 168 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตรในพื้นที่ชลประทานกว่า 1,273,000 ไร่ ตลอดช่วงฤดูแล้งปี 2566/2567 นี้

กรมอุตุนิยมวิทยาได้รายงานว่าขณะนี้ประเทศไทยยังคงอยู่ในสภาวะเอลนีโญต่อเนื่องจากปีพ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีปริมาณฝนกตกน้อยกว่าเกณฑ์ปกติต่อเนื่องไปจนถึงเดือนพฤษภาคม และคาดว่าจะมีอุณหภูมิสูงสุดถึง 44.5 องศาเซลเซียส ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความช่วยเหลือและเฝ้าระวังอันตรายจากโรคลมแดดหรือฮีทสโตรก ที่อาจเป็นอันตรายต่อประชาชนกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคาดการณ์ว่าเมื่อสิ้นสุดฤดูแล้งในวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 3 อ่าง จะมีปริมาณน้ำเก็บกักคงเหลือประมาณ 2,600 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมาถึง 760 ล้าน ลบ.ม.นอกจากนี้ นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี ได้เยี่ยมชมฝายแกนดินซีเมนต์ ที่ตำบลม่วงหวาน อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นฝายที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ ร่วมกันดำเนินการจัดทำฝายที่สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 21,000 ลบ.ม. เพื่อสำรองน้ำสำหรับแหล่งน้ำชุมชนได้เป็นอย่างดี

จากสถานการณ์น้ำที่ดีขึ้นในลุ่มแม่น้ำชีสะท้อนให้เห็นถึงการบริหารจัดการน้ำที่มีความเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการดำเนินการตามแนวพระราชดำริเพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อันเป็นผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง