คนทำหนังขอนแก่น ชี้หนังไม่ใช่ซอฟต์พาวเวอร์ รัฐควรเฟ้นหาคอนเทนต์ที่ดีมาต่อยอดอย่างจริงจัง

IMG_7886

คนทำหนังขอนแก่น ชี้หนังไม่ใช่ซอฟต์พาวเวอร์ รัฐควรเฟ้นหาคอนเทนต์ที่ดีมาต่อยอดอย่างจริงจัง เพราะหนังไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก ควรสนับสนุนอย่างยั่งยืนไม่ใช่แค่ฟีเวอร์แล้วก็หายไป

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่  11 ม.ค.2567 ที่หอศิลป์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. เปิดเผยว่า ในฐานะที่สอนภาพยนตร์ เป็นคนที่ทำหนังเป็น และเป็นคนที่อยู่ในกระบวนการภาพยนต์ที่ดำเนินกิจกรรมให้หนังเข้าสู่อุตสาหกรรมภาพยนต์ของไทย รู้จักคนในวงการภาพยนตร์ รู้ว่าคนในกระบวนการภาพยนตร์นั้นทำอะไรตั้งแต่เริ่มจนจบ พอได้ยินรัฐบาลมาบอกว่าภาพยนตร์ไทยจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์คนทำหนังถึงกับช็อค เพราะหนังก็คือสื่อฯที่ทรงพลังมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก  ดังนั้นเป็นคำถามที่ว่าหนังจะหาคอนเทนต์อะไรให้เกิดการเป็นกระแสเพราะหนังมีทุกรูปแบบและมีทุกเรื่องราว  มีทั้งบวกและลบ

“ดังนั้นถ้าจะเอาหนังไทยไปทำเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ก็จะหมายถึงสื่อชนิดหนึ่งที่ไปค้นหาคอนเทนต์ที่ดี  ซึ่งอาจจะไปค้นหาวัฒนธรรม รากวัฒนธรรม หรือวิถีต่างๆ หรืออะไรที่เป็นของใครของมัน ดังนั้นต้องมีคนบอกว่าเรื่องนี้นั้นเป็นพลังที่พอจะเป็นหนังและนำไปเผยแพร่ให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์จริงๆ เพราะคำว่าซอฟต์พาวเวอร์ไม่ใช่คิดเอง ทำเอง  ชงเอง ตบเอง  เสพเอง  ถ้าเป็นเช่นนั้นในความเข้าใจผมทั้งหมดนี้ไม่ใช่ซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งซอฟต์พาวเวอร์ ต้องมีคนมาเสพ มาเห็น มาดู ยิ่งต่างชาติ เค้าเห็นและทำตามด้วยความสมัครใจ ดังนั้นซอฟต์พาวเวอร์ผ่านสื่อภาพยนต์ที่รัฐบาลกำลังทำนั้นเป็นไปได้  แต่ต้องระวังว่าสิ่งทำนั้นเป็นซอฟต์พาวเวอร์หรือเป็นฟีเวอร์ เป็นกระแสและนำไปใช้ในทางที่ผิดๆ ซึ่งเมื่อติดกระดุมเม็ดแรกผิด  ความเข้าใจผิด  ก็จะมามองกลับว่าเรากำลังเรียนรู้ในสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่”

รศ.ดร.นิยม กล่าวต่ออีกว่า ในสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำ  ถ้ามองในเชิงบวกต้องขอบคุณรัฐบาลคุณเศรษฐา ที่อาจจะเป็นรัฐบาลเดียว ในข้อมูลที่มีอยู่ ที่ให้ความสำคัญกับ  เศรษฐกิจเชิงความคิดสร้างสรรค์ หรือ  Creative Economy  ให้ความสำคัญทางทุนวัฒนธรรมและให้ความสำคัญ สิ่งเหล่านี้ให้ไปสู่ตลาดโลก  ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือถ้าไม่เข้าใจในซอฟต์พาวเวอร์โดยถ่องแท้แล้ว ก็เพียงแค่เอาคำว่าซอฟต์พาวเวอร์มาทิ้งและมาช่วยกันสนับสนุนหนังไทยจากปรากฎการณ์หรือกระแสที่เกิดขึ้นในวงการหนังไทยอย่างที่ผ่านมา น่าจะถูกกว่า ดังนั้นถ้าจะเอาหนังไทยไปแข่งกับโลก ก็ไม่ควรเอาโลกมาดูหนังไทยในสิ่งที่เค้ารู้จัก ดังนั้นคนทำหนังต้องเอาเรื่องที่ทุกคนรู้จักดี ทั้งวัฒนธรรม ชุมชน ภูมิปัญญา  หาให้เจอเสร็จ แล้วเอาเรื่องนี้มาทำหนังแล้วก็เอาไปขายให้โลก อย่างเช่นตอนนี้คนขอนแก่น ร่วมกันลงทุนทำหนังเรื่อง 4 ขมัง  ก็กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจ  และเรื่องพระไม้ ทุกคนกำลังสนใจจากฝีมือคนอีสาน เพราะสร้างนิยามและตัวตนว่า พระไม้ วัตถุอันตรายอย่าเอาเข้าบ้าน ทั้งหมดนี้คือการเฟ้นหาตัวตนและเอาไปขายโลก ซึ่งก็ทำกันมาก่อนจะมีปรากฎการณ์ซอฟต์พาวเวอร์เสียอีก ดังนั้นทุกคอนเนต์ที่เราทำไม่ใช่ซอฟต์พาวเวอร์ อย่างสัปเหร่อที่ทำมานั้นไม่ใช่ซอฟต์พาวเวอร์ วิถีชีวิตการกินส้มตำ นี่ก็ไม่ใช่ซอฟต์พาวเวอร์  ทั้งหมดคือคอนเทนต์ ที่รอที่จะผ่านกระบวนการซอฟต์พาวเวอร์

“ผมเป็นนักวิจัยมองทุกอย่างเป็นงานวิจัย ซอฟต์พาวเวอร์เป็นงานที่ค่อยๆคิดอย่ากระโตกกระตาก แต่ตอนนี้มันกระโตกกระตากไปแล้ว ถ้าเราค่อยช่วยกันทำอย่างค่อยป็นค่อยไป จนกลายเป็นการป้ายยาแบบไม่รู้ตัว แต่ต้องขอชมรัฐบาล ที่ทำให้คนทำหนังเห็นแสงสว่างในปลายอุโมงค์  ทำให้คนรักหนังอิ่มเอมใจ เพราะรัฐบาลมากระตุ้นและมาแสดงพลังให้เห็นว่าหนังไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก และคนไทยอยากดูหนังไทย แต่ทำอย่างไร ที่จะหาคนไทยทำหนังไทยให้ถูกตาคนไทยก็เท่านั้นเอง”

รศ.ดร.นิยม กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ตอนนี้คนทำหนัง เก่งๆเยอะ ดีๆเยอะ และคนไทยที่อยากดูหนังไทยก็เยอะ ดังนั้นเมื่อรัฐบาลให้ความสำคัญและใส่ใจในวงการภาพยนตร์จะเป็นตัวกระตุ้นและขับเคลื่อนให้คนที่อยากทำหนัง หรือคนที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมหนังไทยนั้นได้กล้าที่จะเดินออกมาและแสดงตัวว่าพร้อมที่จะทำหนังไทยดีๆ มีแนวคิดและไอเดียที่ดี มานำเสนอก็จะได้รับการผลักดันและส่งเสริม เพราะทุกวันนี้คนทำหนังขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ ทุกคนมีไอเดียแต่เงินไม่มี ดังนั้นวันนี้คนอยากทำกับงบที่อยากให้มีแล้วก็ต้องมาคุยกันมาเจอกันมาแลกเปลี่ยนกัน เพราะคอนเทนต์อีกมากมายที่อยู่ในประเทศที่ไม่แพ้ชาติในโลกที่รอการนำเสนอจากคนทำหนังและคนที่อยากสนับสนุนและแรงขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหนังไทยให้เกิดความยั่งยืนเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่แท้จริงไม่ใช่ปรากฎการณ์ฟีเวอร์ที่ดังแล้วและก็ดับไป

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง