ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกและพืชที่พบเป็นครั้งแรกของวงศ์เข็มและวงศ์ฟ้าทะลายโจร ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

พืชชนิดใหม่ของโลกและพืชที่พบเป็นครั้งแรกของวงศ์เข็มและวงศ์ฟ้าทะลายโจร ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

ศาสตราจารย์ ดร.ประนอม จันทรโณทัย และ ดร.พรชัย กลัดวงษ์ จากศูนย์วิจัยอนุกรมวิธานประยุกต์ สาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้วิจัยและให้ความรู้ใหม่กับโครงการพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย ดังนี้

 1. พบพืชชนิดใหม่ของโลก (new species)

ก. ยอย่านเบตง (Gynochthodes betongensis Chantar.) เป็นพืชในวงศ์เข็ม พบพืชชนิดนี้จากหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10 เขตอุทยานแห่งชาติบางลาง อ.เบตง จ.ยะลา  โดยตัวอย่างพืชหมายเลข Pooma et al. 4434 ซึ่งเก็บในปี ค.ศ. 2004 จัดเป็นตัวอย่างต้นแบบแรก (holotype) เก็บรักษาที่หอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (BKF) และตัวอย่างคู่ตัวอย่างต้นแบบ (isotype) เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์พืชมหาวิทยาลัยออร์ฮูส เดนมาร์ก (AAU) และพิพิธภัณฑ์พืชสวนพฤกษศาสตร์เอดินเบอเรอ สก๊อตแลนด์ (E) ยอย่านเบตงมีสัณฐานวิทยาคล้ายกับยอเลื้อยขน (G. cochinchinensis (DC.) Razafim. & B. Bremer) และยอย่าน (G. umbellata (L.) Razafim. & B. Bremer) โดยมีดอกเกิดรวมกันเป็นช่อกระจุกและช่อเหล่านี้เรียงตัวคล้ายช่อซี่ร่ม เกิดที่ปลายกิ่ง แต่ยอย่านเบตงนี้ต่างจากพืชทั้งสอง เนื่องจากมีโคนใบรูปหัวใจ และก้านยาว 10–15 มม. โดยพืชอีกสองชนิดนั้นมีโคนใบรูปลิ่มหรือค่อนข้างเบี้ยว  และมีก้านใบยาว 3–10 มม. นอกจากนี้ยอย่านเบตงมีเส้นแขนงใบ 12–14 คู่ ขณะที่ยอเลื้อยขนมี 7–12 คู่ และยอย่านมี 6–8 คู่

ข. เข็มประกายพฤกษ์ (Eranthemum decumbens Kladwong & Chantar.) เป็นพืชในวงศ์ฟ้าทะลายโจร พบที่ จ.สุรินทร์ โดยตัวอย่างหมายเลข Kerr 8249 ซึ่งเก็บในปี ค.ศ. 1924 เป็นตัวอย่างต้นแบบแรก เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพฯ (BK) พืชชนิดนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับพืชจากอินเดีย ได้แก่ E. strictum Roxb. และ E. roseum Roemer & Schultes แต่แตกต่างกันที่เข็มประกายพฤกษ์ มีลำต้นทอดนอนไปตามพื้นและชูส่วนปลายขึ้น ใบรูปขอบขนานแกมรูปไข่ โคนใบรูปลิ่มหรือกลม ปลายใบแหลมหรือสอบเรียว ใบประดับย่อยและกลีบเลี้ยง รูปใบหอกแกมรูปไข่  พืชนี้มีการแพร่กระจายพันธุ์ในไทยและลาว

2. พบพืชเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน (new record)

ก. พบ Gynochthodes hispida (K.M.Wong) Razafim. & B.Bremer (ยอย่านใบสาก) และ Pavetta napieri (Ridl.) Bremek. (เข็มขนใบเรียว) ซึ่งเป็นพืชในวงศ์เข็มเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และพบ P. aspera Craib  (เข็มใหญ่) เป็นครั้งแรกในเมียนมา พบ P. sylvatica Blume (เข็ม) เป็นครั้งแรกในกัมพูชา และพบ P. fruticosa Craib (เข็มดอย) และ P. naucleiflora R.Br. ex G.Don (เข็มขนเล็ก)  เป็นครั้งแรกในลาว

ข.  พบพืชจำนวน 4 ชนิด ในวงศ์ฟ้าทะลายโจร เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ได้แก่ Eranthemum burmanicum N.P.Balakr(เข็มกาบเหลี่ยม), E. macrophyllum Wall. ex Nees (เข็มพวงใบใหญ่), Strobilanthes hypomalla Benoist (ฮ่อมน้อยภูวัว) และ S. spirei (R.Ben.) Kladwong & Chantar. (ม้าศึกสีแดง)

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง