ผู้ว่าฯเผยที่มา-ที่ไป “เฮือนโบราณ” 26 อำเภอ 26 หลัง 26 แบบ งานไหมฯขอนแก่น (มีคลิป)

ผู้ว่าฯเผยที่มา "เฮือนโบราณ" 26 อำเภอ 26 หลัง  26 แบบ งานไหมฯขอนแก่น

ขอนแก่นสร้างเฮือนโบราณ 26 หลัง หน้าศาลากลางจังหวัด หวังเป็นแลนด์มาร์ค แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ในเทศกาลงานไหมฯ คงไว้ซึ่งวัฒนธรรม ประเพณีอีสาน รับฤดูกาลท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่น


ที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น นายไกรสร กองฉลาด ผวจ.ขอนแก่น พร้อมด้วย นายชาญชัย ศรศรีวิชัย รอง ผวจ.ขอนแก่น และนายศุภชัย ลีเขาสูง ปลัดจังหวัดขอนแก่น ลงพื้นที่ติดตามและให้กำลังใจ ผู้นำชุมชน และชาวบ้าน จาก 26 อำเภอ ของจ.ขอนแก่น ที่กำลังลงมือ ร่วมแรงร่วมใจ ก่อสร้างเฮือนโบราณ หรือบ้านในสมัยโบราณที่ชาวขอนแก่น เคยสร้างและอยู่อาศัยมาในอดีต ซึ่งเป็นบ้านไม้ทั้งหลัง ยกพื้นสูง จำนวน 26 หลัง 26 แบบ ซึ่งทุกคนต่างเร่งสร้างบ้านแปงเฮือน เพื่อให้เสร็จทันเปิดงานเทศกาลไหมฯ งานบุญประจำปีของ จ.ขอนแก่น ที่กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 พ.ย. – 10 ธ.ค.2565 ที่จะถึงนี้

นายไกรสร กองฉลาด ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า จากการประชุมเตรียมการจัดงานไหมฯปีนี้ ทำให้ได้รับรู้รับทราบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ถามหางานไหม ที่เป็นงานไหมจริงๆที่จะต้องมีการแสดงและให้ความรู้เกี่ยวกับไหมและวัฒนธรรมอีสาน บ่งบอกความเป็นขอนแก่น ที่ไม่ใช่งานขายสินค้าหรืองานวัด ฉะนั้นการจัดงานไหมในปีนี้ จึงต้องเป็นงานเทศกาลไหมที่เเสดงเอกลักษณ์ความสวยสดงดงามของผ้าไหม เพราะจังหวัดขอนแก่น ถือได้ว่าเป็นแหล่งรวมผ้าไหมที่สวยงามจำนวนมาก

“การสร้างบ้านโบราณที่เป็นของดีวิถีอีสานเป็นของดีของเด่นในบ้านเรา และเมื่อคนในปัจจุบันโหยหาอดีต ต้องการความสงบสุข ไม่วุ่นวายเหมือนในอดีตจึงจำลองวิถีชีวิตของชาวขอนแก่น ถือว่าเป็น soft power ที่จะมานำเสนอให้สาธารณะได้รู้ว่าขอนแก่นเรามีดีในทุกๆด้าน ทั้งอาหาร และผ้าไหม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน จึงได้จัดสร้างเฮือนโบราณขึ้นมาในสนามหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ให้เป็นหมู่บ้านชุมชนขึ้นมาในบริเวณดังกล่าว โดยทุกอำเภอจะต้องสร้างเฮือนโบราณขึ้นมาอำเภอละ 1 หลัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ยกพื้นสูง เพราะคนโบราณมักจะใช้ชีวิตเรียบง่าย กินนอน ทำกับข้าวบนบ้าน กลางวันอากาศร้อนก็ลงมานั่งเล่นกัน นั่งรับแขก ที่ใต้ถุนบ้าน บางคนยังเลี้ยงสัตว์และหลับนอนใต้ถุนบ้านด้วย ข้างบ้านก็จะมีเล้าข้าวหรือยุ้งข้าว เอาไว้เก็บข้าวเปลือกหลังการเก็บเกี่ยว ในส่วนของการก่อสร้างเฮือนโบราณนั้น ได้มีการประมูลงานถูกต้องตามระเบียบ โดยกำหนดให้งบประมาณอำเภอละ หรือหลังละ 100,000 บาท ส่วนช่างที่มาทำการก่อสร้างก็จะเป็นผู้นำชุมชนและชาวบ้านที่มีฝีมือ มาช่วยกันสร้าง ช่วงพักเที่ยงก็ร่วมกันทำอาหารรับประทานร่วมกัน”

ผวจ.ขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า งานเทศกาลไหมและประเพณีผูกเสี่ยวของจังหวัด เป็นงานบุญใหญ่ที่ มีการจัดงานติดต่อกันมาทุกปี แต่ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้หยุดจัดงานไป ดังนั้นเมื่อการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้คลี่คลายลง ปีนี้จึงกลับมาจัดงานอีกครั้ง โดย ยืนยันว่า งานไหมจะยังเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ ยังเป็นงานที่น่าสนใจของชาวขอนแก่นและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ โดยปีนี้นักท่องเที่ยวจะได้ชมเฮือนโบราณ วัฒนธรรมอีสานที่ถ่ายทอดโดยลูกหลานชาวขอนแก่น และจุดที่สร้างเฮือนโบราณจุดนี้ จะเป็นแลนด์มาร์ค จุดถ่ายรูปกลางเมืองขอนแก่น และหลังจากจบงานไหมไปแล้วนั้น ก็จะต้องสอบถามความเห็นของชาวขอนแก่นว่า จะให้ยังคงให้ตั้งเฮือนโบราณไว้ที่หน้าศาลากลางหรือต้องการให้รื้อออก ทางจังหวัดยินดีทำตามความประสงค์ของชาวขอนแก่นในทุกกรณี

“กรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องของการสร้างเฮือนโบราณที่สนามหน้าศาลางกลางจังหวัด จำนวน 26 หลังว่า ไม่เหมาะสม และเบียดบังที่จอดรถของข้าราชการ ประชาชนผู้มาติดต่อราชการนั้น ไม่เหมาะสมตรงไหน ถ้าติดแค่เรื่องที่จอดรถ มันไม่ใช่ปัญหา ซึ่งต้องถามกลับกับกลุ่มที่มาโจมตีว่า ที่จอดรถเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวหรือส่วนรวม เพราะการจอดรถนั้นเป็นส่วนตัว แต่การสร้างเฮือนโบราณ มันเป็นการทำเพื่อส่วนรวม และถ้าสามารถจะทำประโยชน์ให้คนขอนแก่นอยู่ดีกินดี มันก็ดีกว่าเป็นที่จอดรถ เอารถมาจอดตากแดดไว้เฉยๆ”

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง