โปงลางสินไซ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มข. คว้าถ้วยพระราชทานฯ พร้อมกวาด อีก 9 รางวัล จากเวทีมหกรรมภูมิปัญญานันทนาการท้องถิ่นอีสาน

วงโปงลางสินไซ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คว้าถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จากการประกวดดนตรีพื้นบ้านวงโปงลางชิงถ้วยพระราชทานฯ รุ่นอายุไม่เกิน 25 ปี ในงานมหกรรมภูมิปัญญานันทนาการท้องถิ่นอีสาน จัดโดยกรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับ จังหวัดนครราชสีมา ณ โคราช ฮอลล์ ชั้น 4 เซ็นทรัล โคราช จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 12-14 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา

สำหรับการประกวดดนตรีพื้นบ้านวงโปงลางชิงถ้วยพระราชทานฯ รุ่นอายุไม่เกิน 25 ปี ในครั้งนี้ นับเป็นที่น่ายินดีที่วงโปงลางสินไซ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สามารถป้องกันแชมป์ ชนะใจคณะกรรมการผู้ตัดสินรับรางวัลชนะเลิศ คว้ารางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาครองต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 พร้อมรับเงินรางวัล 100,000 บาท นอกจากนี้ยังกวาดรางวัลอันทรงเกียรติในเวทีเดียวกัน กว่า 9 รางวัล ประกอบไปด้วย

1.ความสามารถระดับเหรียญทอง

2.รางวัลการแสดงชุดเทิดพระเกียรติฯ ดีเด่น

3.รางวัลเปิดวงดีเด่น

4.รางวัลบรรลงโปงลางดีเด่น

5.รางวัลบรรเลงแคนดีเด่น

6.รางวัลบรรเลงกลองดีเด่น

7.รางวัลขับ ร้อง ลำ ดีเด่น

8.รางวัลบรรเลงซอดีเด่น

9.รางวัลขวัญใจมหาชน

อาจารย์อาทิตย์ กระจ่างศรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในผู้ควบคุมทีมได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แนวคิดของชุดการจัดแสดงครั้งนี้เป็นการเป็นการแสดงเพื่อเทิดพระเกียรติฯสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ครบรอบ 90 พรรษา โดยมีการร้อยเรื่องนำเอาเหตุการณ์เมื่อปี พ.ศ.2498 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ในหลวงรัชการที่ 9 และ สมเด็จพระราชินีได้เสด็จเยือนอีสานเป็นครั้งแรก

“สาเหตุที่เลือกเรื่องราวของจังหวัดนครพนมเป็นร้อยเรื่องของการแสดงนั้น เป็นเพราะท่านได้ทรงเสด็จและประทับแรมที่จวนผู้ว่าหลังเก่าซึ่งเป็นจวนผู้ว่าหลังแรกของจังหวัดนครพนม เป็นสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศษ (ศิลปะโคโลเนียล) ในครั้งนั้นได้รับอิทธิพลการแต่งการแฟชั่นนิยมจากวัฒนธรรมตะวันตก เมื่อพระองค์ท่านได้ทำภารกิจเสร็จเรียบร้อย ในตอนเย็นได้ทรงเยี่ยมชมงานไหลเรือไฟ จึงเป็นแรงบันดาลใจถ่ายทอดบอกเล่าเรื่องราวผ่านการแสดงเหตุการทางด้านประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญยิ่งต่อการอนุรักษ์ นอกจากนี้ส่วนเชื่อมโยงของจังหวัดนครพนมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น คือ ตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้นำพระธาตุพนมมาเป็นตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย”

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง