ม.ขอนแก่น จับมือ กฟผ. ยกระดับมหาวิทยาลัยแห่งพลังงานสะอาดอัจฉริยะ (มีคลิป)

ม.ขอนแก่น จับมือ กฟผ.ยกระดับมหาวิทยาลัยแห่งพลังงานสะอาดอัจฉริยะ ด้วยการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ ภายในพื้นที่ มหาวิทยาลัยและระบบเก็บกักพลังงาน โดยใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตจากโรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเอง เพื่อต่อยอดธุรกิจไฟฟ้าแบบใหม่ในอนาคต


เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 21 เม.ย.2565 ที่สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการด้านยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการ Smart Campus – Khon Kaen University ท่ามกลางความสนใจจากนักวิชาการ และนักศึกษา เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มข. ให้ความสำคัญกับการพัฒนามหาวิทยาลัยให้บรรลุตามยุทธศาสตร์ Green and Smart Campus การเป็นองค์กรแบบชาญฉลาด คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานจากธรรมชาติเป็นพลังงานทดแทน สร้างมหาวิทยาลัยให้เป็นที่น่าอยู่ (Great place to live) เพื่อให้เป็นสถานที่ที่มีความเหมาะสมในการใช้ชีวิต มีสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว มีห้องเรียนด้านพฤกษศาสตร์และมีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต (Biodiversity) เรามีการจัดการของเสีย การบำบัดน้ำเสีย อนุรักษ์พื้นที่สีเข้ม มีระบบขนส่งมวลชนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการใช้พลังงานสะอาด Solar Energy Wind Energy Carbon Footprint ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของบุคลากรและนักศึกษา ตลอดจนผู้ที่อาศัยในบริเวณมหาวิทยาลัยขอนแก่นและจังหวัดขอนแก่น ก้าวเข้าสู่การเป็น excellent academy มหาวิทยาลัยวิจัยและพัฒนาชั้นนำ ระดับโลก ความร่วมมือระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยขอนแก่นในครั้งนี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ Green and Smart Campus

ความร่วมมือทางวิชาการ โครงการ “Smart Campus – Khon Kaen University” เป็นการดำเนินการเพื่อพัฒนาโครงการ Smart Campus – Khon Kaen University ในพื้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นให้เป็นมหาวิทยาลัย ที่ใช้พลังงานสะอาด และมีระบบบริหารจัดการพลังงานเพื่อบริหารจัดการ การใช้พลังงานในมหาวิทยาลัย มีการเชื่อมต่อกับระบบกักเก็บพลังงาน ENGY Wall โดยใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตโดยโรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสถานีอัดประจุไฟฟ้ารถยนต์แบบ Normal Charge และแบบจ่ายพลังงานกลับเข้ามาในระบบไฟฟ้า (V2G) ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อให้เกิดองค์รวมรู้ของ Smart Campus และสนับสนุนแผนนโยบาย Net Zero ของมหาวิทยาลัยให้เป็นรูปธรรม โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น สนับสนุนพื้นที่ในการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาในกลุ่มของคณะแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ อาคารกีฬา อาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ การติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นน้ำ (Solar Floating) ในบ่อสูบน้ำของมหาวิทยาลัย การติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน ENGY Wall (Battery Energy Storage System, BESS) การติดตั้งระบบบริหาร จัดการพลังงานในพื้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น EGAT Microgrid EMS ติดตั้งระบบบริหารจัดการพลังงานในพื้นที่ ติดตั้งระบบสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบปกติและแบบจ่ายไฟฟ้าย้อนกลับเข้าระบบไฟฟ้า ซึ่งจะติดตั้งในหน่วยงานต่างๆ รอบมหาวิทยาลัย

ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการด้านยุทธศาสตร์ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.ได้ออกแบบ Smart Campus มข.ในรูปแบบรัฐกับรัฐ หรือ G2G ในการให้บริการการบริหารจัดการค่าสาธารณูปโภค หรือค่าไฟฟ้า โดยระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบรับประกันผลงาน ใน 6 ระบบ ประกอบด้วย ระบบริหารจัดการพลังงาน เพื่อบริหารจัดการการใช้พลังงานให้มีการเชื่อมต่อกับระบบกักเก็บพลังงาน ที่สามารถสะสมพลังงานไว้ใช้ในเวลาที่ระบบต้องการสร้างความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการพลังงานที่มีความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้า ควบคู่กับระบบบริหารจัดการรายอาคาร หรือ ENZY Platform เพื่อติดตามและควบคุมการใช้พลังงานในอาคารต่างๆ โดยเฉพาะอุปกรณ์ระบบปรับอากาศ ที่มีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาควบคุมการปรับอุณหภูมิได้อัตโนมัติ พร้อมทั้งระบบแจ้งเตือนค่าใช้จ่าย เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถปรับลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ทันที โดยตั้งเป้าการติดตั้งอุปกรณ์ระบบปรับอากาศขนาดไม่น้อยกว่า 20,000 บีทียู

“กฟผ.จะดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ ภายในพื้นที่ มข.และระบบเก็บกักพลังงาน ในกลุ่มของอาคารกีฬา และหอพักขนาด 1 เมกกะวัตต์ต่อชั่วโมง เพื่อกักเก็บสะสมพลังงานส่วนเกินจากระบบไฟฟ้าที่ผลิตจาก Solar System มาใช้จ่ายไฟในช่วงเวลาที่ต้องการ โดยเพิ่มขีดความสามารถการซื้อขายไฟผ่านระบบการซื้อขายไฟ ในรูปแบบระหว่างคณะหรืออาคาร ซึ่งเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าเดิมของอาคารผ่านอุปกรณ์ Smart Meter ที่มีระบบออกบิลเพื่อติดตามค่าไฟฟ้า และมูลค่าการเสนอซื้อขายพลังงานไฟฟ้าแต่ละช่วงเวลาอีกด้วย”

ดร.จิราพร กล่าวต่ออีกว่า กฟผ.ยังคงมีแผนติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ Wallbox แบบชาร์จปกติและแบบจ่ายไฟกลับเข้ามาในระบบไฟฟ้า หรือ V2G ที่สามารถเก็บเงินจากผู้ที่มาใช้บริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าผ่านระบบรองรับการจ่ายเงินที่สามารถผ่อนผ่านระบบออนไลน์ได้ ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง มข.กับ กฟผ. จะเป็นการสนับสนุนแผนนโยบายนด้านพลังงานสะอาด หรือ Net Zero ของ มข. สู่การเป็นมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยแผนการดำเนินงานดังกล่าวตามบันทึกข้อตกลงจะมีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี โดยมั่นใจว่าการที่บุคลากรจากทั้ง 2 หน่วยงานได้เข้าร่วมการศึกษา วิจัย และถ่ายทอดองค์ความรู้จะเป็นการต่อยอดประสบการณ์การพัฒนาระบบ Smart Energy Solutions เพื่อสร้างประโยชน์ต่อประเทศร่วมกันต่อไป

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง