แม่บ้านมหาดไทย@ขอนแก่น

แม่บ้านมหาดไทย@ขอนแก่น

คอลัมน์ “รู้จริง ถิ่นเฮา
โดย “น้องดอกคูน”
….เรื่องเล่า อ่านสนุก ซอกมุมของบรรพบุรุษ และมองออกไปเบื้องหน้า ในบริบทของ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เมื่อทุกเรื่องม้วนร้อย เป็นมิติเดียวกัน เหลืองสะพรั่งของดอกคูณ และ เสียงแคน แล่นแต้ มาแล้ว………….
        

ของบนโลกใบนี้ บางอย่าง ใช้เป็นคี่ คือทำงานได้โดยลำพัง แต่บางอย่าง ต้องใช้คู่กัน จึงจะสมดุล อย่าง ตะเกียบ ช้อน-ซ้อม, กลางวัน-กลางคืน, มืด-สว่าง เฉกเช่นเดียวกับมนุษย์ ที่ต้องมี เพศหญิงเพศชาย มาเป็นความสมดุลของชาวโลก

สังคมไทย การทำงานนอกบ้าน ในอดีต  มักมอบให้ ชาย-เป็นผู้นำ หญิง-เป็นฝ่ายสนับสนุน ซึ่งในปัจจุบัน เมื่อ “หญิง“ มีโอกาสในการ ทำงานนอกบ้าน พวกเธอมั่นใจ  กลายเป็น “ผู้นำ“ ในหลายองค์กร

หากเป็น หน่วยงานภาคเอกชน “นายผู้หญิง“  ที่เข้าไปช่วยงานในกิจการ มักเรียกกันว่า   “อาซ้อ“ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ที่พวกเธอทำหน้าที่ดูแล กระเป๋าเงินของครอบครัว

แต่หากเป็นหน่วยงานราชการ-รัฐวิสาหกิจ เมื่อชายเป็น “ผู้นำ“ ขององค์กร “หญิง“ ยังคงเป็นฝ่ายสนับสนุน และมีความเป็น “ข้าราชการ“ ที่มีธรรมเนียมปฏิบัติ ไม่เกินงาม ของ “หลังบ้าน“ ที่จะเข้าไป ยุ่งกับงานของสามี ซึ่งอาจเข้าข่าย “จุ้นจ้าน“  และ เคยมีข่าว พพม.-พังเพราะเมีย กันมาแล้ว

ความพอดี- ความสมดุล จึงเป็น เส้นบางๆ ที่ควรคำนึง กรอบที่ถูกวาง ตามจารีต ที่สืบต่อกันมา จึงเป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมา ในทุกยุคสมัย  แต่อาจลืมเลือนกันได้ ในบางจังหวะ

กลับเข้ามาสู่วงการ “ หลังบ้าน“  มีหลายองค์กร อย่าง แม่บ้านของ 4 เหล่าทัพ ทหารบก-ทหารเรือ-ทหารอากาศ-ตำรวจ  โดยมีภริยาของ เบอร์หนึ่ง ก้าวขึ้นเป็น “นายกสมาคม“  โดยตำแหน่ง พวกเธอ ทำงานแนวหลัง เป็นข่าวเราเห็นกันอยู่บ้าง

ส่วนกระทรวงมหาดไทย   ทีมหลังบ้าน คือ สมาคมแม่บ้านมหาดไทย โดยมีภริยาของปลัดกระทรวง ครองตำแน่ง นายกสมาคมฯ  ส่วนในแต่ละจังหวัด โดยภริยาของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด นั้น เป็น ประธานแม่บ้านมหาดไทย  หรือ ท่านผู้ว่าฯ อาจรับตำแหน่งเองก็ได้ เช่นกัน

สมาชิกแม่บ้านมหาดไทย จึงกินอาณาเขต ครอบคลุมไปถึง ทุกกรม ทุกรัฐวิสาหกิจ ที่อยู่ในการกำกับของกระทรวงมหาดไทย ด้วยเช่นกัน

เพื่อเป็นอีกแรงในการขับเคลื่อน เครือข่าย ของพลังหญิง  5 กรอบงาน ของสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ที่วางกันไว้ เป็น “งานตาม“ ที่ช่วยสนับสนุน สร้างสรร ความเป็นอยู่ และความเป็นแม่ ตามเพศสภาพ ของผู้หญิง ได้แก่  การช่วยรณรงค์ ให้ประชาชน เข้ารับวัคซีน ป้องกัน โควิด-19 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70,โครงการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร  “บ้านนี้มีรัก  ปลูกผักกินเอง“  ,การใส่ใจสิ่งแวดล้อม-คัดแยกขยะ,รณรงค์สวมผ้าไทย เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ และการส่งเสริมการสร้างสุขอนามัยแก่เด็กและแม่ ให้เติบโตอย่างถูกต้องตามเกณฑ์มาตรฐานสุขลักษณะ

การประชุมสมาคมแม่บ้านมหาดไทยสัญจร ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา จัดขึ้นที่ ห้องแก่นเมือง ศาลากลาง จังหวัดขอนแก่น-บ้านเฮา  จึงมีประธานแม่บ้านมหาดไทย จาก 20 จังหวัดในภาคอีสาน  เข้ามาร่วมประชุม และนำเสนองาน ทั้ง 5 กรอบงาน ในที่ประชุม

จังหวัดขอนแก่น-บ้านเฮา  มีการรายงาน ในที่ประชุม ดังนี้

1 ประชาชน เข้ารับวัคซีน ป้องกัน โควิด-19 เข็มที่ 1 : ร้อยละ 70.73 และ เข็มที่ 2 : ร้อยละ 64.63

2 “ บ้านนี้มีรัก  ปลูกผักกินเอง“   ราวร้อยละ 94.48 ของจำนวน 361,794 ครัวเรือน

3 มีการคัดแยกขยะจากครัวเรือน ร้อยละ 94.19

4 มีรายได้จากการขายผ้าไหม ราว 4,666 ล้านบาท และมีผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ จำนวน 405 ราย

5 มีศูนย์เด็กเล็ก จำนวน 380 ศูนย์ อยู่ในความดูแลของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น  จำนวน 23,623 คน  ร้อยละ 78  เติบโตอย่างถูกต้องตามเกณฑ์มาตรฐานสุขลักษณะ

แม้เวลา มีน้อย แต่พบว่า สิ่งที่ได้รับประโยชน์ สูงสุด คือ การตื่นตัว ของหน่วยงาน เจ้าของงาน ที่ต้องกระฉับกระเฉง เพราะดุจมีสปอตร์ไลต์ ฉายลงมามอง   งานจึงขยับ หน่วยงานเสริมอย่างแม่บ้านมหาดไทย ก็พร้อมที่จะช่วยภาคปฏิบัติ งานเดินหน้า ร่วมกัน

ช่วยงาน“ หรือ “สนับสนุนงาน“ หรือ “สั่งงาน“ จึงเป็นความละเอียดอ่อน พึงระวัง ที่จะไม่เข้าข่าย “จุ้นจ้าน“  ตำแหน่งการวางตัว ที่จะไม่ทำให้ข้าราชการ ต้อง “ว้าวุ่นใจ“ .. มากไป ก็ไม่งาม ..น้อยไป ก็เหมือนดูดาย…  ล้วนเป็น “ศาสตร์ และศิลป์“ ที่ผู้บริหารต้องเรียนรู้……….

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง