อสส.จับมือ UNODC ติวเข้มอัยการภาค 4 เดินหน้าสืบพยานแบบดิจิทัล รับมือการก่อเหตุทุกรูปแบบ

อสส.จับมือ UNODC ติวเข้มอัยการภาค 4 เดินหน้าสืบพยานแบบดิจิทัล รับมือการก่อเหตุทุกรูปแบบ หลังพบคดีต่างๆกว่าร้อยละ 90 มีพยานแบบดิจิทัลที่ต้องสอบสวนอย่างละเอียดและเข้าถึงทุกข้อมูลเพื่อเอาคนผิดมาลงโทษตามกฎหมาย

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 2 มี.ค.2565 ที่โรงแรม อวานี แอนด์ คอนเวนชั่น เซนเตอร์ จ.ขอนแก่น นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อัยการสูงสุด เป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฎิบัติการเพื่อเพิ่มศักยภาพของพนักงานอัยการในการสืบพยานหลักฐานในระบบดิจิทัล ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาการสอบสวนและการดำเนินคดี สำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมกับสำนักงานสหประชาชาติ หรือ UN ประจำประเทศไทย และ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNODC ได้จัดการประชุมขึ้น โดยมีพนักงานอัยการในพื้นที่สำนักงานอัยการภาค 4 เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด

นายประยุทธ์ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ปัจจุบันในทางปฎิบัติความรู้ของเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีที่จำเป็นต้องมีความรู้และทักษะนั้นมีจำนวนน้อยมาก ซึ่งสวนทางกับจำนวนของการกระทำความผิดที่มีเทคโนโลยีมาเกี่ยวข้อง ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นในระยะเวลาอันสั้น ทำให้ผู้กระทำความผิดสามารถอาศัยประโยชน์จากความไม่รู้หรือความไม่เท่าทันของพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายในการที่จะกระทำความผิดผ่านสื่ออุปกรณ์ดังกล่าว จึงทำให้การพิสูจน์เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือพยานหลักฐานที่ใช้ในการสืบความผิดมีความยากลำลากมากขึ้น สำนักงานอัยการสูงสุด โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาการสอบสวนและการดำเนินคดี จึงประสานความร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDOC ดำเนินโครงการจัดฝึกอบรมดังกล่าว ครอบคลุม 9 สำนักงานอัยการทั้งประเทศ โดยเริ่มดำเนินการอบรมและสัมมนา ในหลักสูตรดังกล่าวอย่างเข้มข้น

ขณะที่ นายมาร์ค เจริญวงศ์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาการสอบสวนและการดำเนินคดี กล่าวว่า ปัจจุบันคดีที่เกิดขึ้นมากกว่าร้อยละ 90 มีพยานหลักฐานในระบบดิจิทัลเกิดขึ้นอย่างมาก ดังนั้นอัยการจึงควรมีทักษะและความรู้เท่ากันกับมาตรฐานในระดับสากล ซึ่งในการกำจัดหรือลดจำนวนของการกระทำความผิดผ่านสื่อดิจิทัลบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ต้องใช้ความร่วมมือระหว่างองค์กรสากลและองค์กรชาติ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ ที่จะต้องมีความรู้ ความชำนาญในการดำเนินคดี เพื่อประโยชน์สูงสุดในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน ซึ่งแม้พนักงานอัยการจะไม่ไดเป็นพนักงานสอบสวน แต่ยังคงเป็นผู้ที่มีบทบาทในการอำนวยความยุติธรรมที่อยู่ในกระบวนการในชั้นศาล ดังนั้นการสัมมนาดังกล่าวพนักงานอัยการที่ปฎิบัติงานในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะพนักงานอัยการระดับปฎิบัติการหรือระดับ 2-4 จะร่วมกันสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องของความสำคัญประเภทของพยานในรูปแบบดิจิทัลที่จะสามารถใช้พิสูจน์การกระทำความผิดในชั้นศาล รู้ถึงปัญหาอุปสรรค ข้อควรระวังเกี่ยวกับเรื่องพยานหลักฐานดิจิทัลทั้งในกระบวนการจัดเก็บและกระบวนการใช้พยานหลักฐานในชั้นศาล และที่สำคัญคือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับพนักงานอัยการสามารถนำพยานหลักฐานดิจิทัลไปใช้พิสูจน์ความผิดในกระบวนการชั้นศาลได้อย่างถูกต้องแม่นยำและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

“การอบรมดังกล่าวจะเป็นการร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูล การรับทราบถึงเทคนิควิธี และกระบวนการเรียนรู้ ของคณะทำงานร่วมทุกฝ่าย และการเข้าถึงข้อมูลของตำรวจสากล หรือ Inter Pool , หน่วยงานด้านกฎหมายระดับประเทศและระดับนานาชาติ รวมไปถึงหน่วยงานตำรวจในระดับพื้นที่ที่รับผิดชอบด้านพยานหลักฐานด้านดิจิทัล และข้อสังเกตในประจักษ์พยานหลักฐานในคดีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบดิจิทัล ระบบไอที หรือการสืบค้นข้อมูลผ่านกูเกิ้ล หรือข้อมูลเฉพาะทางในอำนาจหน้าที่และแนวทางการสืบสวนสอบสวนของพนักงานอัยการ เพื่อให้การสืบพยานหลักฐานเป็นไปตามหลักสากล สร้างความน่าเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมและสำนักงานอัยการสูงสุดในภาพรวม”

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง