ม.ขอนแก่น ระดม 19 กูรู ยกระดับรายได้เกษตรกรด้วยนวัตกรรมที่ได้จริง

news2020_Facebook

        ม.ขอนแก่น โดยสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (สยปพ.) ระดมนักวิชาการ นักพัฒนาพื้นที่ ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Young Smart Farmer) ชั้นนำในพื้นที่อีสาน 19 คน นำเสนอแนวคิด ประสบการณ์ ผลงาน จากการทำงานในพื้นที่ในรูปแบบ rISNED KKU Talk ตอกย้ำเกษตรสมัยใหม่ต้องมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับรายได้

        สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์ฯ จัดประชุมวิชาการ “เกษตรกรสร้างชาติ นวัตกรรมสร้างอาชีพ” ระหว่างวันที่ 8-9 กรกฎาคม 2564 ในรูปแบบออนไลน์ ระดมคณาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่นจากคณะเกษตรศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น แพทยศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการอาวุโส นักวิชาการอิสระ Young Smart Farmer ทั้งหมด 19 ท่าน

        โดยคณาจารย์จากคณะเกษตรศาสตร์ได้ตอบโจทย์การบริหารจัดการต้นน้ำของการผลิตพืชผลทางการเกษตร การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อจัดการดิน น้ำ เมล็ดพันธุ์ การจัดการศัตรูพืช โรคพืช เพื่อให้ผลิตผลที่ได้มีความสมบูรณ์ก่อนส่งต่อไปยังผู้บริโภค หรือเข้าสู่กระบวนการผลิตขั้นกลาง

        ในด้านวิศวกรรมศาสตร์เป็นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ ม.ขอนแก่น ศึกษาวิจัย ทดลองทดสอบ ปฏิบัติได้จริง สามารถเพิ่มผลิตภาพทางการผลิต ทำให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้นจากเดิม ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย เกษตรกรสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จริง

        ส่วนศาสตร์ด้านแพทย์ศาสตร์เป็นการนำผลิตผลทางการเกษตรสู่การแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบอาหารแกสโตรโนมี (Gastronomy) อาหารสุขภาพ อาหารสมุนไพร ตอบโจทย์คนรักสุขภาพ ในขณะที่ด้านเศรษฐศาสตร์ได้เสนอแนวทางการยกระดับรายได้ภาคการเกษตรในมิติทางเศรษฐศาสตร์ที่มีผลงานการศึกษาวิจัยของคณาจารย์รองรับ ซึ่งการสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มเกษตรกรมีขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองตามความต้องการตนเองเป็นเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่

        ทางเลือกในการแก้ปัญหาด้านการตลาดของเกษตรกรที่อาศัยความร่วมมือระหว่างเกษตรกรด้วยการสนับสนุนของนักพัฒนาในพื้นที่และหน่วยงานท้องถิ่น การปรับตัวให้เข้ากับยุคออนไลน์ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยบริหารจัดการ และการเผชิญปัญหาโควิด-19 ก็ยังเป็นโจทย์ท้าทายในการทำงานเชิงพื้นที่ นำมาสู่โครงการ ผักปลอดภัย โดยใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมเข้ามาช่วย โดยเลือกพื้นที่ประสบปัญหาความยากจน 5 จังหวัด 10 พื้นที่ ได้แก่ หนองบัวลำภู ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และบุรีรัมย์ ใช้โมเดล มข.แก้จน ยกระดับและพัฒนาในพื้นที่ของชาวบ้าน โดยเกษตรกรเริ่มต้นจะต้องมีการรวมกลุ่ม การปลูกฝังความเก่งในการใช้ระบบเกษตรปลอดภัย โดยมีการให้ความรู้ตั้งแต่พื้นที่ปลูก โรงเรือน แปลงปลูก ให้ทำปุ๋ยใช้เอง ใช้สารชีวพันธุ์ จัดการกับแมลงศัตรูพืช การถ่ายทอดเทคโนโลยี การใช้ระบบตลาดออนไลน์ โดยใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยของคณาจารย์และเครือข่ายด้านการเกษตรครบทุกด้าน การดำเนินงานครั้งนี้จะได้มีการนำเสนอผลการวิจัย ปัญหา อุปสรรค จุดอ่อน เพื่อนำไปจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคนโยบายของมหาวิทยาลัย และกระทรวงต่อไป

        รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี ม.ขอนแก่น ได้กล่าวถึงการสร้างคุณค่าร่วมกันของ ม.ขอนแก่น ในภูมิภาค ถือเป็นพันธกิจของมหาวิทยาลัยที่จะสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในชุมชนอย่างยั่งยืน

        รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท ผอ. สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์ฯ ขอขอบคุณทั้ง 19 ท่านที่ให้เกียรติมาร่วมงาน rISNED KKU Talk และขอขอบคุณสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม​แห่งชาติ (สอวช.) หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ที่สนับสนุนโครงการ “ยกระดับอาชีพเกษตรกรเพื่อสร้างรายได้ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม” ซึ่งสามารถชมวิดีโอได้ในเฟซบุ๊กเพจ “ผักนวัตกรรม มข.-อว.” หรือยูทูป ช่อง rISNED

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

  

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

  

  

  

  

  

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง