ขอนแก่น ให้พนักงานห่อข้าวใส่ปิ่นโตมาทานที่สำนักงานแทนการออกไปทานอาหารกลางวันข้างนอกเสี่ยงรับเชื้อโควิด-19

1

        เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 30 มิ.ย.2564 ที่สำนักงาน เทศบาลตำบลบ้านค้อ อ.เมือง จ.ขอนแก่น นายจักรพงศ์ เพ็ชรแสน นายกเทศมนตรีตำบลบ้านค้อ พร้อมด้วย ข้าราชการ พนักงานเทศบาลตำบลบ้านค้อ กว่า 100 คน ร่วมกันสวมใส่ชุดผ้าพื้นเมือง โดยที่ผู้หญิงนุ่งซิ่น ผู้ชายใส่โสร่ง พร้อมกับการนำอาหารกลางวันแบบปิ่นโตมาทานที่สำนักงานเทศบาลฯ ลดการออกไปรับประทานอาหารกลางวันข้างนอก ที่เสี่ยงต่อการรับเชื้อโควิด-19 ในระยะนี้

        นายจักรพงศ์ เพ็ชรแสน นายกเทศมนตรีตำบลบ้านค้อ กล่าวว่า ผู้บริหาร พนักงาน และเจ้าหน้าที่ทุกคนล้วนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เพราะเป็นโอกาสที่จะได้สวมใส่ชุดพื้นเมืองประจำถิ่น ที่ได้ร่วมกันอุดหนุนพ่อค้าแม่ค้าในชุมชนได้ใส่มาทำงานที่เทศบาล ในชื่อ โครงการ ใส่โสร่งนุ่งซิ่น ถือปิ่นโตมาเฮ็ดงาน ที่จัดเป็นโครงการที่เทศบาลตำบลบ้านค้อ กำหนดจัดขึ้นในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่จะเป็นการลดการเดินทางออกไปทานอาหารมื้อเที่ยงนอกพื้นที่เทศบาล


        “โดยปกติเมื่อพักเที่ยงพนักงานทุกคนมักจะออกพื้นที่ไปทานข้าวตามร้านอาหารซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยง เกี่ยวกับการติดเชื้อโครงการนี้จึงจัดทำขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมให้พนักงานได้หิ้วปิ่นโตหรือนำอาหารการกินที่ทำมาจากบ้านมาทานที่ทำงานร่วมกันกับเพื่อนๆและอีกอย่างเป็นการลดการใช้ถุงพลาสติกหรือโฟมโดยการใช้กระติบข้าวหรือปิ่นโตที่นำมาใส่อาหารและถือมาทำงานเมื่อกินเสร็จก็ล้างทำความสะอาดกลับมาใช้ใหม่ได้ตลอด”

        นายจักรพงศ์ กล่าวต่ออีกว่า การใส่โสร่งนุ่งซิ่นเป็นการอนุรักษ์การแต่งกายด้วยชุดผ้าพื้นบ้าน ซึ่งโดยปกติแล้ว พนักงานเทศบาลจะแต่งกายด้วยชุดยูนิฟอร์มหรือการแต่งกายแบบสากล ของแต่ละกองงานตามที่กำหนด ดังนั้นการที่กำหนดให้พนักงานใส่โสร่งนุ่งซิ่น โดยกำหนดสัปดาห์ละ 1 วัน จะเป็นอีกหนึ่งวันที่ทำให้บรรยากาศของการอยู่ร่วมกันเป็นไปด้วยความคึกคักด้วยเครื่องแต่งกาย ที่น่าเอ็นดู ในชุดผ้าซิ่น ผ้าไหม ผ้าโสร่ง ผ้าขาวม้า ที่จัดเป็นมรดกตกทอดจากรุ่นปู่ย่าตายายที่มีคุณค่าทางด้านจิตใจอย่างมาก ซึ่งการแต่งกายในรูปแบบนี้หากไม่ทำเป็นประจำก็จะรู้สึกเก้อเขิน เหนียมอายกับการที่จะต้องใส่ แต่เมื่อใส่แล้วก็รู้สึกมั่นใจ สบายตัว สบายกาย และทำให้มีความสุขเกิดรอยยิ้มกับการทำงาน ทั้งยังคงเป็นการอุดหนุนการซื้อขายผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาหรือผ้าพื้นบ้านในชุมชนอีกด้วย

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง