สหกรณ์โคนมน้อยใจ! รัฐให้โควต้าบริษัทขนาดใหญ่มากกว่าสหกรณ์ทำให้เดือดร้อนนมค้างสต็อก (มีคลิป)

1

สหกรณ์โคนมขอนแก่น จับมือสหกรณ์โคนมวาริชภูมิ จี้รัฐทบกวนการแบ่งโควต้าให้บริษัทเอกชนที่เปิดใหม่ เพราะเกษตรกรเดือดร้อนหนักน้ำนมดิบค้างสต็อกทุกวัน “คำพันธ์” เผย หากปล่อยไว้อนาคตสหกรณ์โคนมต้องปิดตัวแน่

      เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 11 มิ.ย.2564 ที่สหกรณ์โคนมขอนแก่น ต.บ้านค้อ อ.เมือง ขอนแก่น นายคำพันธ์ ไชยหัด ประธานสหกรณ์โคนมขอนแก่น เป็นประธานการประชุมร่วมสมาชิกร่วมสหกรณ์โคนมขอนแก่น และ สหกรณ์โคนมวาริชภูมิ จ.สกลนคร ในการหารือแนวทางการแก้ปัญหา การจัดสรรโควตานมโรงเรียนที่ไม่เป็นธรรม จนทำให้น้ำนมดิบค้างสต็อกในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก

      นายคำพันธ์ ไชยหัด ประธานสหกรณ์โคนมขอนแก่น กล่าวว่า ในวันดื่มนมโลกเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมในพื้นทีความรับผิดชอบของสำนักงานปศุสัตว์เขต 4 ได้มีการออกมานำเสนอปัญหาและส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบไปแล้วแต่เรื่องก็เงียบหายไป และการจัดสรรโควต้านมโรงเรียนยังคงเป็นไปตามมติเดิม คือมีการจัดสรรให้กลุ่มบริษัทเอกชนรายใหญ่ มากกว่าการใช้บริการของกลุ่มสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมในระดับพื้นที่ ส่งผลให้น้ำนมจากสหกรณ์โคนมขอนแก่นคงเหลือค้างสต็อกในแต่ละวันจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบัน เฉพาะสหกรณ์โคนมขอนแก่น มีการรับซื้อน้ำนมดิบจากสมาชิกอยู่ที่ 49.166 ตัน ต่อวัน ส่งจำหน่ายให้กับกลุ่มลูกค้าหลัก 2 กลุ่มใหญ่แยกเป็นกลุ่มบริษัทเชิงพาณิชย์ อาทิ อสค. ,ซีพี และบริษัทเอกชนตามสัญญาคู่ค้า วันละ ประมาณ 20 ตัน คงเหลือน้ำนมอยู่ที่ 29.166 ตันต่อวัน ในจำนวนนี้ได้ยื่นเข้าโครงการอาหารเสริมนมโรงเรียน เข้าสู่ระบบสัดส่วน ซึ่งได้รับสิทธิจากโครงการ 13.696 ตันต่อวัน ทำให้มีน้ำนมเหลือที่สหกรณ์ไม่มีตลาดรองรับอยู่ที่ 15 ตันต่อวัน ซึ่ง สหกรณ์โคนมวาริชภูมิ จ.สกลนคร ก็ได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกันทำให้ขณะนี้จึงทำได้เพียงการนำน้ำนมดิบ ที่คงค้างแต่ละวัน ส่งไปผลิตเป็นนมกล่อง ที่ อสค., สหกรณ์โคนมสีคิ้ว สกรณ์โคนมหนองโพธิ์ และสหกรณ์โคนมกำแพงแสน”

นายคำพันธ์ ไชยหัด ประธานสหกรณ์โคนมขอนแก่น
นายคำพันธ์ ไชยหัด ประธานสหกรณ์โคนมขอนแก่น

      ประธานสหกรณ์โคนม จ.ขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า การส่งน้ำนมดิบที่คงค้างไปทำนมกล่องนั้นไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เพราะเป็นเพียงการยืดอายุของนมเพิ่มออกไป ประกอบกับการที่ สหกรณ์โคนมขอนแก่นต้องแบกรับปัญหาในเรื่องของเงินทุนที่อยู่ในรูปแบบนมพาณิชย์ ประมาณ 70 ล้านบาท ดังนั้นเสียงสะท้อนจากชาวสหกรณ์ทั้ง 2 แห่งในวันนี้จึง ต้องการส่งถึงผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในการบริหารจัดการนมเพื่อเด็กและเยาวชน ทุกคนไม่อยากก่อม็อบ ไม่อยากเทน้ำนมทิ้ง ไม่อยากกะทำการใดๆ ที่ทำให้สถานการณ์บ้านเมืองแย่ไปกว่านี้ในช่วงที่ทุกคนกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติโควิด-19 และหากรัฐบาลยังคงมีการจัดสรรให้กลุ่มเอกชนมากกว่าสหกรณ์ ในอนาคตสหกรณ์โคนม ก็จะค่อยหายไป อาชีพการเลี้ยงโคนมจะหมดไป เพราะปัจจุบันมีเอกชนรายใหญ่ทยอยเข้ามา โรงงานและบริษัทในพื้นที่เขตโคนมที่ 4 เพิ่มขึ้นอีก 6 แห่ง จึงถึงเวลาที่รัฐบาล จะต้องให้ความเป็นธรรมให้กับสหกรณ์ และเกษตรกรในระดับพื้นที่ที่ต้องต่อสู้กับนายทุนรายใหญ่ ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง