สหกรณ์โคนมขอนแก่น วอนทุกหน่วยแก้ปัญหานมโรงเรียนคงค้าง (มีคลิป)

1

สหกรณ์โคนมขอนแก่น จี้รัฐ ทบทวนสิทธิ์การจัดสรรโควตานมโรงเรียนให้กับสหกรณ์มากขึ้น หวั่นนมล้นตลาด หลังพบเอกชนรายใหญ่เจาะตลาดนมโรงเรียนและนมพาณิชย์มากขึ้น เฉพาะที่ขอนแก่นนมคงค้างมากถึงวันละเกือบ 10 ตัน วอนทุกหน่วยเร่งแก้ปัญหา

      เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 1 มิ.ย.2564 ที่สหกรณ์โคมนม จ.ขอนแก่น นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด พร้อมด้วย นายคำพันธ์ ไชยหัด ประธานสหกรณ์โคนมขอนแก่น จำกัด นำคณะกรรมการสหกรณ์โคมนมแห่งประเทศไทย และสหกรณ์โคนมขอนแก่น ร่วมกันจัดกิจกรรมเนื่องในวันดื่มนมโลกประจำปี 2564 แบบวิถีใหม่ หรือนิวนอร์มอล ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด ด้วยการรณรงค์ให้ประชาชนดื่มนมกันอย่างแพร่หลาย และการนำเสนอผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในพื้นที่ ก่อนที่ทั้งหมดจะร่วมประชุมเพื่อรับทราบถึงปัญหาและแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่ได้รับผลกระทบอยู่ในขณะนี้

      นายคำพันธ์ ไชยหัด ประธานสหกรณ์โคนมขอนแก่น จำกัด กล่าวว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่เป็นสมาชิกขณะนี้มีอยู่กว่า 174 ราย แต่ละวันมีการส่งน้ำนมโคดิบให้กับสหกรณ์วันละ ประมาณ 42 ตัน ในราคารับประกันการซื้อที่ กิโลกรัมละ 17.50 บาท ซึ่งสหกรณ์ได้ทำการคัดคุณภาพและผ่านขั้นตอนกระบวนการต่างเพื่อส่งจำหน่ายให้กับกลุ่มลูกค้าหลัก 2 กลุ่มแยกเป็นกลุ่มบริษัทเชิงพาณิชย์ อาทิ อสค., ซีพี, บริษัทเอกชนตามสัญญาคู่ค้า วันละ ประมาณ 20 ตัน และอีกส่วนคือส่งจำหน่ายให้กับ กลุ่มนมโรงเรียนวันละ 22 ตัน แต่ปัญหาที่พบคือการส่งจำหน่ายให้กับกลุ่มนมโรงเรียนนั้นมีการรับซื้อวันละ 15 ตัน ทำให้นมของสหกรณ์คงค้างอยู่ในสต๊อกมากถึงวันละ 7 ตัน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากการจัดสรรโควต้า ซึ่งสหกรณ์โคนมขอนแก่นอยู่ในกลุ่ม 3 ที่กรมปศุสัตว์กำหนด ครอบคลุมพื้นที่ 12 จังหวัดภาคอีสานตอนบนโดยมีผู้ประกอบการทั้งในส่วนของสหกรณ์และบริษัทเอกชน รวมทั้งสิ้น 14 ราย โดยมีการรับซื้อน้ำนมจากผู้ประกอการดังกล่าววันละ 166 ตัน ในรูปแบบของการจัดสรรโควต้า

      “ยอมรับว่าสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น นั้นส่งผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างมาก การจัดสรรโควต้าของกลุ่มนมโรงเรียน ที่ประกาศให้กลุ่มที่ 3 รับซื้อวันละ 166 ตัน แต่ก็มีการจัดสรรให้กับกลุ่มสหกรณ์ในสัดส่วนที่น้อยกว่ากลุ่มบริษัทเอกชน จนทำให้ขณะนี้น้ำนมจากสหกรณ์โคนมขอนแก่นคงค้างอยู่ในสต็อกแต่ละวันจำนวนมาก ซึ่งหากไม่มีการแก้ไขก็จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคมที่อาจจะต้องปล่อยทิ้งน้ำนมทั้งหมดไป”

      ขณะที่ นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า กลุ่ม 3 ของสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย พบว่ามีสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบในลักษณะนี้เกิดขึ้นแล้วที่ สหกรณ์โคนมขอนแก่น และ สหกรณ์โคนมวาริชภูมิ จึงต้องมีการประชุมด่วนหารือถึงทางออกในการแก้ไขปัญหาเพราะหากปล่อยทิ้งไว้เข้ามารับฟัง รับทราบ หรือแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทางก็จะส่งผลต่อเหตุการณ์ที่ไม่เกิดขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบในด้านต่างๆอย่างมาก ทุกภาคส่วนกำลังกำหนดแนวทางและพากันก้าวผ่านวิกฤติเหตุการณ์นี้ไปได้ด้วยกันโดยเร็ว ดังนั้นการจะออกมาเทนมทิ้งหรือการกระทำใดๆนั้นควรไม่มีเกิดขึ้น

      “เราต้องหาทางออกและได้ข้อสรุปหรือข้อเสนอแนะที่เป็นการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ซึ่งต้องยอมรับว่าปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นนี้นั้นแต่ละสหกรณ์นั้นแตกต่างกัน โดยเฉพาะการเลื่อนการเปิดภาคเรียนของโรงเรียนทุกแห่ง ทำให้การบริโภคนมลดลง จึงขอเชิญชวนให้คนไทยทั้งประเทศร่วมกันช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโค ด้วยการดื่มนมทุกวัน ขณะที่คณะทำงานเมื่อได้ข้อสรุปจากปัญหาดังกล่าวแล้ว จะมีการเสนอต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และรัฐบาลเพื่อได้รับทราบจนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดและชัดเจนต่อไปอย่างเร่งด่วน”

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง