โรคลัมปี-สกิน ระบาดแล้ว 11 จังหวัดภาคอีสานตอนบน

1

โรคลัมปี-สกิน ระบาดแล้ว 11 จังหวัดภาคอีสานตอนบน ปศุสัตว์ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างเลือด ย้ำเตือนมาตรฐานความปลอดภัยให้กับเกษตรกร พร้อมระบุโรคนี้ไม่ติดต่อสู่คน และแมลงคือพาหะนำโรคที่บินไปได้ไกลกว่า 50 กม. ทุกพื้นที่ต้องเฝ้าระวัง

      เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 20 พ.ค.2564 ที่ บ.โคกน้อย ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น นายมาโนชญ์ บุญรอด รักษาการผู้อำนวยการส่วนสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์เขต 4 (ขอนแก่น) พร้อมด้วย นายมานพ เถาตะกู ปศุสัตว์ อ.เมืองขอนแก่น, นายวินัย ทองทัพ กำนัน ต.พระลับ และ นายทวีชาติ ติตะปัญ ประธานสภา ทต.พระลับ นำเจ้าหน้าที่สารวัตรปศุสัตว์, ทีมสัตวแพทย์, สมาชิกสภา ทต.พระลับ และ ฝ่ายปกครอง ลงพื้นที่ตรวจสอบฟาร์มเลี้ยงโคเนื้อและโคนม ในพื้นที่หังพบโคติดเชื้อโรคลัมปี-สกิน แล้วในพื้นที่ ต.พระลับครอบคลุมหลายหมู่บ้าน

      โดยกำลังเจ้าหน้าที่ได้ทำการเก็บตัวอย่างเลือด และ สะเก็ดตุ่ม บนผิวหนังของโคที่ติดเชื้อ เพื่อนำกลับไปตรวจวิเคราะห์หาสาเหตุ ตามเทคนิควิธีของกรมปศุสัตว์ รวมทั้งการทำความเข้าใจกับเกษตรกรในโรคที่กำลังเกิดขึ้นเพื่อให้เกษตรในพื้นที่เฝ้าระวัง ป้องกันและรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกวิธี โดยมีเกษตรกรที่พบว่าโค-กระบือ ตัวเองนั้นเกิดโรคลัมปี-สกิน เข้าร่วมหารือและรับฟังแนวทางจากทางเจ้าหน้าที่อย่างพร้อมเพรียง

      นายวินัย ทอทัพ กำนัน ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่ ต.พระลับ พบว่ามีเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือ ป่วยด้วยโรคลัมปี-สกินแล้ว 4 หมู่บ้าน และขณะนี้ผู้นำชุมชนและ สมาชิกสภา ทต.พระลับ อยู่ระหว่างการลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกันทีมสัตวแพทย์เพื่อทราบถึงจำนวนโค-กระบือ ที่ป่วยด้วยโรคดังกล่าวอย่างแน่ชัดและเข้าสู่ขั้นตอนของการรักษาและกักกันโรคอยางถูกต้อง ขณะเดียวกันจะมีการหารือร่วมกันทางอำเภอและจังหวัดในการนำทีมปศุสัตว์มาให้ความรู้กับเกษตรกรในพื้นที่เพื่อเป็นการรับทราบถึงมาตรการ ข้อกำหนด และแนวทางการดำเนินงานหากพบการระบาดเกิดขึ้นในพื้นที่ที่อาจจะแพร่กระจายมากไปกว่านี้เนื่องจากพาหะนำโรคนั้นเกิดจากแมลง และการที่เกษตรกรยังต้องรับการช่วยเหลือในด้านวิชาการเนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ ต.พระลับ

      ขณะที่นายมาโนชญ์ บุญรอด รักษาการผู้อำนวยการส่วนสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์เขต 4 ขอนแก่น กล่าวว่า ในพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงานปศุสัตว์เขต 4 ซึ่งครอบคลุม 12 จังหวัด โดยล่าสุดขณะนี้พบว่ามีพื้นที่ที่พบการกระบาดของโรคลัมปี-สกินแล้ว 11 จังหวัดในกลุ่มโคและกระบือ ดังนั้นคณะทำงานของกรมปศุสัตว์จึงเร่งลงพื้นที่จัดเก็บตัวอย่างเพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์ รวมไปถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจในการรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ ซึ่งหากโคและกระบือ ที่ป่วยด้วยโรคดังกล่าวนี้แล้ว ทีมสัตวแพทย์จะทำการรักษาตามอาการอย่างใกล้ชิด ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเกษตรกรจะต้องปฎิบัติตนได้อย่างถูกต้องเพื่อเฝ้าระวังและรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในพื้นที่เลี้ยงสัตว์ของตนเอง

      “เกษตรกรต้องสังเกตอาการของโคและกระบือ เริ่มจากการดูว่ามีตุ่มนูนแข็งขึ้นตามลำตัวหรือไม่ ต่อมน้ำเหลืองโต หรือมีไข้สูง สัตว์มีอาการซึม นมโคอาจจะลดลงหรือมีอาการตาหรือขาบวมอักเสบ ซึ่งโรคดังกล่าวนี้นั้นติดต่อผ่านแมลงดูดเลือด โดยเฉพาะยุง เห็บ เหลือบ หรือแมลงวัน ซึ่งแมลงดังกล่าวนี้สามารถบินได้ไกลถึง 50 กม. ดังนั้นแมลงอาจจะกินเลือดโคในพื้นที่หนึ่งและบินไปกระจายเชื้อในพื้นที่ต่างๆก็เป็นไปได้ และในขณะนี้เฉพาะเขต อ.เมืองขอนแก่น พบว่า มีพื้นที่ ต.ศิลา ต.ท่าพระ และ ที่ ต.พระลับ พบการแพร่ระบาดของเชื้อแล้ว และทางจังหวัดได้ประกาศเป็นพื้นที่การแพร่ระบาดของโรคเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงต้องดการเคลื่อนย้ายสัตว์ในระยะนี้เด็ดขาด รวมทั้งการประสานการปิดตลาดนัดโค-กระบือ เพื่องดการแพร่เชื้อ และเจ้าหน้าที่จะประสานการทำงานร่วมทุกฝ่ายเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับเกษตรกรเป็นการเร่งด่วน”

      นายมาโนชญ์ กล่าวต่ออีกว่า แม้โรคที่กำลังเกิดขึ้นจะไม่มียารักษาที่หายขาดทันที แต่เป็นการรักษาตามอาการ และโรคชนิดนี้ไม่ติดต่อจากสัตว์สู่คน ดังนั้นเกษตรกรจะต้องแยกสัตว์ที่แสดงอาการออกจากสัตว์ตัวอื่น เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาและกักกันโรค ควบคู่กับการกำจัดพาหะแมลงดูดเลือดด้วยการทำความสะอาดสัตว์เลี้ยงอย่างบ่อยครั้ง และใช้สารกำจัดแมลงละลายน้ำ พ่นบริเวณตัวสัตว์และบริเวณคอกในฟาร์มอย่างสม่ำเสมอ โดยห้ามรับประทานโคหรือกระบือที่ป่วยด้วยโรคดังกล่าวนี้เด็ดขาดและหากพบว่าโค-กระบือ เสียชีวิต จะต้องทำการฝังดินและปิดทับด้วยปูนซิเมนต์เท่านั้น

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง