วิศวฯมข.ปลื้ม! ครองอันดับ 2 ของไทย

news_Facebook_2021

      SCImago Institutions Ranking (SIR) สถาบันจัดอันดับองค์กรระดับโลก ได้ประกาศผลการจัดอันดับประจำปี 2021 หรือ SCImago Institutions Ranking 2021 ผลปรากฎว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สามารถครองอันดับที่ 2 ของไทย และอันดับที่ 592 ของโลก โดยอันดับ 1 เป็นของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ติดอันดับ 501 ของโลก

      รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มีความรู้สึกยินดีและมีความภาคภูมิใจในความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากผลงานของคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาของคณะ ซึ่งการจัดอันดับครั้งนี้มีเกณฑ์วัดที่สำคัญที่มุ่งเน้นเกี่ยวกับงานวิจัยและนวัตกรรมเป็นหลักซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจหลักของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่มุ่งเน้นการวิจัยและสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาวิจัย การให้บริการทางวิศวกรรม การสร้างสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม รวมถึงผลงานการจดสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ ต่างๆ

รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

      ความสำเร็จในครั้งนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนกลยุทธ์ของคณะในการปรับเปลี่ยนการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสังคม และการเรียนรู้และสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อพัฒนาและก้าวสู่สากล โดยผ่านโครงการ Flagship ของคณะที่ก้าวไปสู่การจัดลำดับ World Ranking ระดับโลก และสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของคณะที่จะเป็น คณะวิศวกรรมศาสตร์ชั้นนำด้านการสอน วิจัยและพัฒนา ระดับอาเซียน โดยมีเป้าหมาย อันดับ 1ใน 5 ของประเทศ และ 1 ใน 10 ของอาเซียน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จที่เราพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถก้าวไปเป็นคณะชั้นนำด้านวิศวกรรมศาสตร์ของประเทศได้ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักเรียนและผู้ปกครองรวมถึงประชาชนทั่วไปในคุณภาพของการจัดการเรียนการสอน การวิจัยและบริการของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ผมขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องในครั้งนี้และจะมุ่งมั่นพัฒนาก้าวต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อให้คณะสามารถเป็นที่พึ่งของสังคมทางด้านวิศวกรรมศาสตร์และสามารถช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยและสร้างคุณค่าร่วมกับสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปได้

โดยมีตัวบ่งชี้ที่ประกอบด้วยกลุ่มตัวชี้วัดที่แตกต่างกัน 3 ด้าน

1.ด้านงานวิจัย (Research) 50% โดยจะประกอบไปด้วยจำนวนเอกสารทางวิชาการ วารสาร งานวิจัย จำนวนการอ้างอิง จำนวนผู้เขียนที่เกี่ยวข้องกับผลงานวิชาการและผลงานวิจัยของสถาบันนั้นๆ โดยอ้างอิงผลข้อมูลจาก Scopus
2.ด้านนวัตกรรม (Innovation) 30% จะเป็นในด้านความรู้ที่เป็นนวัตกรรม สิทธิบัตร หรือผลงานตีพิมพ์ทางวิทยาศาสตร์จากสถาบันที่อ้างถึงในสิทธิบัตร โดยพิจารณาข้อมูลมาจาก PATSTAT (Patent Statistical Database)
3.ด้านสังคม (Societal) 20% จะพิจารณาจาก ขนาดของเว็บ จำนวนหน้าเว็บที่เชื่อมโยงกับ URL ของสถาบัน จำนวนเครือข่าย (subnets) ที่เชื่อมโยงการเข้าถึงกับเว็บไซต์ของสถาบันนั้น และปริมาณเอกสาร และข่าวสารต่างๆ ของสถาบันที่เผยแพร่อยู่ใน social media

อ้างอิงข้อมูลจาก scimagoir.com

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง