อยากให้ดู! ต้นแบบการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์เมืองขอนแก่น

“สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์” และ “นครขอนแก่น” เปิดตัว “โครงการต้นแบบการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์” เชื่อมั่นจะช่วยหนุนเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่เติบโต

        สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับจังหวัดขอนแก่น ผนึกพลังหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และกลุ่มธุรกิจสร้างสรรค์ต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้จัด “เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2564”(Isan Creative Festival 2021) ภายใต้แนวคิด Isan Crossing: อีสานโคตรซิ่ง” เมื่อเร็วๆ นี้  เพื่อสะท้อนการผสานสินทรัพย์ทางภูมิปัญญาเเละวัฒนธรรมเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบ เเละนวัตกรรม แสดงศักยภาพของบุคลากรและธุรกิจสร้างสรรค์ ผ่านผลงานที่เก็บเกี่ยวและได้รับแรงบันดาลใจจากสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม “อีสาน” โดยจัดการแสดง และกิจกรรม กว่า 200 รายการ บนพื้นที่ย่านเศรษฐกิจ ในจังหวัดขอนแก่น และทั่วภาคอีสาน ซึ่งนับตั้งแต่เปิดเทศกาลฯ ก็ได้รับความสนใจจากบุคคลทั่วไปจำนวนมาก นอกจากนี้ ภายในเทศกาลฯ ยังถือเป็นการเปิดตัวอีกหนึ่งไฮไลต์นั่นคือ โครงการต้นแบบการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จังหวัดขอนแก่น” (Creative District Project) ให้ผู้มาชมงานได้ชมได้ศึกษา และจุดประกายสร้างสรรค์ กับ 2 โครงการ Srichan Makeover: ปรับย่าน เปลี่ยนวิถีศรีจันทร์” และ  โครงการ Kungsadan Walkable: กังสดาลย่านเดินเท้า” อีกด้วย โดยเชื่อมั่นว่า โครงการฯ จะเป็นกลไกลสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ให้เติบโตได้

        ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือ พื้นที่ที่กําหนดขึ้นเพื่อส่งเสริมธุรกิจและบริการในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยเชื่อมโยงเรื่องราวของย่านที่อยู่อาศัย ผู้คน ธุรกิจดั้งเดิม เข้ากับมาตรการส่งเสริมธุรกิจสร้างสรรค์และการกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมธุรกิจสร้างสรรค์และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อกระบวนการคิด การผลิต และการตลาดในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ พร้อมทั้งเกื้อกูลธุรกิจดั้งเดิมในพื้นที่ให้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อจะดึงดูดให้มีการลงทุนใหม่ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ สร้างความเคลื่อนไหวของกลุ่มธุรกิจและบุคลากรสร้างสรรค์ และการเกิดศูนย์รวมของบุคลากรในอุตสาหกรรม เพื่อถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้ ตลอดจนเกิดผลงานและโอกาสในการพัฒนาธุรกิจและบุคลากรของไทยต่อไป ซึ่งการจัดงานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2564 (Isan Creative Festival 2021) นับเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ทั้งทางตรงและทางอ้อม และเป็นการแสดงศักยภาพของพื้นที่นั้นๆ ที่มีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน

        ด้วยแนวคิดข้างต้น สํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ขอนแก่น จึงได้ร่วมกับเทศบาลนครขอนแก่น บริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง ชมรมศรีจันทร์คลับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มนักสร้างสรรค์มืออาชีพ ได้แก่ Urban Room และ A49 ขอนแก่น ใช้กระบวนการมีส่วนร่วม (Co-creation) และกระบวนการคิดเชิงออกแบบ Design Thinking  และ Service Design สร้างต้นแบบเชิงทดลอง เพื่อศึกษาวิจัยพัฒนาแนวคิดการพัฒนาเมืองอย่างสร้างสรรค์ทำให้เกิดระบบนิเวศสร้างสรรค์ และยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มรายได้ในพื้นที่ โดยได้ร่วมมือกับชุมชนใน 2 พื้นที่หลัก ได้แก่ ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ศรีจันทร์ กับ “โครงการ Srichan Makeover: ปรับย่าน เปลี่ยนวิถีศรีจันทร์” และ ย่านกังสดาล กับ “โครงการ Kungsadan Walkable: กังสดาลย่านเดินเท้า”

 

โครงการ Srichan Makeover: ปรับย่าน เปลี่ยนวิถีศรีจันทร์ 

ทีมนักสร้างสรรค์ : A49 Khon Kaen

เมื่อเดินสำรวจในย่านศรีจันทร์ จะพบภูมิทัศน์และระบบนิเวศสร้างสรรค์ ดังนี้

1.Easy Access: การเข้าถึงย่าน  

Easy Access: การเข้าถึงย่าน

        “ที่จอดรถ” คือปัจจัยสำคัญในการเข้าถึงย่านที่เป็นประเด็นปัญหาร่วมกันทั้งคนในและคนนอกย่าน ในช่วงเวลาปัจจุบันที่มีการขนส่งมวลชนยังไม่สามารถกระจายตัว และมีความถี่รองรับการเดินทางของคนเมืองขอนแก่น การจัดการผิวจราจร และช่องจอดที่สามารถจอดได้เต็มศักยภาพของถนนศรีจันทร์

 

2.Street Furniture: เฟอร์นิเจอร์สาธารณะ

        “จุดพบปะ” ที่มากกว่าการนั่ง สนับสนุน เชื้อเชิญ และช่วยให้การเริ่มปฏิสัมพันธ์เกิดขึ้นได้ง่าย ตั้งแต่นั่งล้อมวงกันเครื่องปั้นดินเผาที่บรรจุน้ำไว้ข้างใน เพื่อระบายความเย็นให้ผู้นั่ง ไปจนถึงพื้นที่ ที่รองรับกิจกรรมนันทนาการในพื้นที่อันจำกัด สร้างเสริมรอยยิ้ม เสียงหัวเราะให้กับผู้ใช้งาน มีจุดเช็กอัตราการเต้นของหัวใจ ทั้งยังมีบริการน้ำดื่ม ผ้าขาวม้า และของที่ระลึกแบบสุ่มจากร้านค้าในย่านอีกด้วย  

3.Rain & Water Drainage: ท่อระบายน้ำฝนหน้าอาคาร

        นอกจากความเรียบร้อย สวยงามของท่อน้ำฝนแล้ว การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดคือลักษณะสำคัญของคนอีสาน น้ำที่ถูกระบายออกมาจากตัวอาคารจึงถูกกักเก็บในอุปกรณ์ดินเผาเป็นจุดกระจายความเย็นให้กับหน้าร้านและทางเท้า ก่อนจะถูกระบายทิ้ง

4.Sidewalk: ทางเท้า-พื้นที่สาธารณะเชิงสร้างสรรค์

        “ร่มเงา หรือความร่มรื่นจากต้นไม้” คือปัจจัยสำคัญลำดับต้นๆ ที่ทำให้คนอยากจะเดินเมืองแทนการขับรถมากขึ้น รถพ่วงต้นไม้ที่จะขับเคลื่อนไปยังจุดต่างๆ รอบย่านและพื้นที่ใกล้เคียง จะทำหน้าที่สื่อสารให้คนเมืองได้สัมผัสว่าการมีต้นไม้อยู่ใกล้ๆ นั้นดีอย่างไร สามารถทดลองปรับเปลี่ยนตำแหน่งต้นไม้เพื่อสร้างร่มเงาให้เหมาะกับการใช้งานได้ในแต่ละช่วงวัน ในแต่ละกิจกรรมได้ดีขึ้น และสามารถผลิตเปลี่ยนหมุนเวียนการดูแลรักษาได้ทั่วถึงทั้งย่าน

 

โครงการ Kungsadan Walkable: กังสดาลย่านเดินเท้า

ทีมนักสร้างสรรค์ : Urban Room

        ย่านกังสดาล เป็นอีกหนึ่งต้นแบบย่านสร้างสรรค์ กับโครงการ “กังสดาลย่านเดินเท้า”ที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างอัตลักษณ์และความปลอดภัย เชื่อมโยงจุดต่างๆ ให้เข้าถึงกัน ส่งเสริมการเดินในพื้นที่ชุมชนกังสดาลและชุมชนโดยรอบ เพื่อเป็นแนวทางและแบบอย่างในการพัฒนาชุมชนเพื่อส่งเสริมการเดินในพื้นที่อื่น โดยมีความน่าสนใจ ดังนี้

1.ทางม้าลาย “ลายขิดอีสาน”  

คอนเซ็ปต์ : ลายขิดอีสาน ความปลอดภัย การลดความเร็วยานพาหนะ การลดความกว้างถนน การส่งเสริมการเดินเท้า

        ทางม้าลายถือเป็นเครื่องหมายจราจรระดับสากลที่สามารถพบเห็น และถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในพื้นที่ที่มีกิจกรรมการเดินเท้าของผู้คน นอกจากการช่วยอำนวยความสะดวกในการข้ามถนนแล้วนั้น ยังสร้างความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถที่สัญจรไปมาอีกด้วย การสร้างจุดเด่นด้วยการ ดีไซน์ การนำเอาวัฒนธรรมวิถีชีวิตของชาวอีสานอย่าง “ลายขิดอีสาน” เพื่อเพิ่มความสวยงามและเป็นจุดเด่นสอดคล้องกับวัฒนธรรมวิถีชีวิตของชาวอีสาน

 

 2.กังสดาลย่านเดินเท้า

คอนเซ็ปต์ :  ส่งเสริมการเดินเท้า สร้างความปลอดภัยการเดินเท้า ลายทางเดินประกอบด้วยร้านค้าและวิถีชีวิตของย่าน

        ย่านกังสดาลถือเป็นย่านที่พักอาศัยติดกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีร้านค้าที่หลากหลายครบวงจร เป็นย่านที่มีความคึกคัก มีชีวิตชีวาตลอดทั้งวัน ลักษณะโดยพื้นที่ภายในย่านประกอบด้วย ตรอก ซอกซอย สามารถเชื่อมเข้าถึงจากถนนเส้นหลักโดยรอบ ทำให้มีการจราจรที่หนาแน่นตลอดเวลา ประกอบกับพื้นที่มีกิจกรรมการค้าขายริมทางอยู่ตลอดทั้งเส้นถนน ทำให้พื้นที่ถนนไม่เอื้ออำนวยต่อการเดินเท้า การส่งเสริมการเดินเท้าของพื้นที่จึงเป็นทางออกสำคัญสำหรับผู้คนภายในย่าน จากลักษณะเด่นของสภาพพื้นที่ จึงทำให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงพื้นที่ด้วยการเดินเท้า ภายในระยะเวลา 5-10 นาที

 

3.มุมพักผ่อน ริมบึง

คอนเซ็ปต์ : ความสนุกสนาน เก้าอี้สาธารณะ

        การเพิ่มเก้าอี้ในสวนสาธารณะ เพื่อให้เป็นที่นั่งพักผ่อนสำหรับผู้คนที่มาใช้งานในพื้นที่ ซึ่งฟังก์ชั่นของเก้าอี้ ถูกออกแบบให้มีรูปลักษณ์ที่ต่างจากสวนสาธารณะทั่วไป  โดยเพิ่มลูกเล่นและความคิดสร้างสรรค์ที่มีที่นั่งต่างระดับ เพื่อให้ผู้ใช้มีมุมมองที่ต่างกัน อีกทั้งยังมีชิงช้าสายเดียวสำหรับผู้ใช้ที่ชอบความสนุกสนาน บริเวณ ใต้ร่มไม้ต้นจามจุรี ริมสวนสาธารณะบึงหนองแวง

        ทั้งนี้ สามารถเยี่ยมชม โครงการต้นแบบการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จังหวัดขอนแก่น” (Creative District Project) กับ 2 โครงการ Srichan Makeover: ปรับย่าน เปลี่ยนวิถีศรีจันทร์” และ  โครงการ Kungsadan Walkable: กังสดาลย่านเดินเท้า” ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง