ศูนย์ต่อต้านข่าวลวงจังหวัดขอนแก่นจัดงานครบรอบ 1 ปี ในการก่อตั้งศูนย์ เชิญหน่วยงานองค์กรภาคีเครือข่ายกว่า 15 องค์กรร่วมนำเสนอการทำงาน ตำรวจไซเบอร์เผยยอดแจ้งความออนไลน์คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 5 เดือนปี 2568 มีมากถึงแสนคดี มูลค่าความเสียหายกว่าหมื่นล้านบาท
เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2568 ที่หม่องเฮียนฮู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น ได้มีการจัดงานครบรอบ 1 ปีการก่อตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวลวงจังหวัดขอนแก่น โดยได้เชิญภาคีเครือข่ายคนทำงานเรื่องการต่อต้านข่าวลวงและป้องกันมิจฉาชีพในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นจำนวน 15 องค์กร อาทิ สำนักงานตำรวจไซเบอร์ สมาคมผู้บริโภค สภาองค์กรผู้บริโภค สภาวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น สมาคมสื่อมวลชน อีสานอินไซต์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชมรมผู้ประกอบการวิทยุธุรกิจจังหวัดขอนแก่น ฯลฯ มาร่วมแชร์ข้อมูล โดยมีนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเป็นประธานเปิดงาน
พ.ต.ท.นราภพ นวลเท่า สว.กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สอท.3 บช.สอท. กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ตำรวจไซเบอร์ กล่าวถึงการเปิดรับแจ้งความออนไลน์คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผ่านเว็บไซด์ตำรวจคือ www.Thaipoliceonline.go.th ในช่วงเดือนมกราคม -พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา พบว่ามีคดีออนไลน์มากถึง 129,452 คดี มูลค่าความเสียหายมากถึง 10,733,459,475 บาท โดยมีคดีออนไลน์จำนวน 21,834 คดี แจ้งความที่หน่วยงาน 11,876 คดี เฉลี่ย 884 เรื่องต่อวัน แต่สามารถอายัดบัญชีได้ทันแค่ 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
โดยพบ 5 อันดับคดีที่แจ้งความออนไลน์มากที่สุดคือ หลอกลวงซื้อขายสินค้าและบริการ 56 เปอร์เซ็นต์ หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 14 เปอร์เซ็นต์ หลอกลวงเพื่อโอนเงินหารายได้พิเศษ 11 เปอร์เซ็นต์หลอกลวงให้กู้เงินอันมีลักษณะฉ้อโกง 7 เปอร์เซ็นต์และหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ 6 เปอร์เซ็นต์และได้มีการแนะนำคาถาป้องกันมิจฉาชีพเอาไว้ว่า “ไม่รับ ไม่คุย ไม่คลิก ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน”
ด้านนายสหโชค เพียรการ เจ้าหน้าที่ประสานงาน และสื่อสารองค์กร โครงการ ISAN Insight and Outlook คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า กลโกงของมิจฉาชีพ หากเอามาประเมินและวิเคราะห์จะพบว่ามีรูปแบบเดิม ๆ คือการแอบอ้างเป็นหน่วยงานราชการ และใช้สื่อออนไลน์ในการหลอกให้หลงเชื่อ ทั้งการหลอกให้เราอยากทำงาน หลอกขายของถูก หลอกให้อยากรู้ จากนั้นก็ให้แอดไลน์แล้วให้ถอนเงินจากกระเป๋าเงินหรือวอลเลท หรือไม่ก็ให้สมัครทำงาน แล้วมีการโอนเงินเข้าบัญชีม้า จากบัญชีม้าก็กระจายออกไป จะวนแบบนี้ และเป้าหมายคือต้องการเงินของเรา เพราะฉะนั้นหากเราต้องการให้ปลอดภัยจากมิจฉาชีพเราก็จะต้องไม่โอนเงินเพราะเงินอยู่ในกระเป๋าเราถ้าเราไม่เชื่อ ไม่โอนมิจฉาชีพก็ทำอะไรเราไม่ได้
ในขณะที่นางสุมาลี สุวรรณกร หัวหน้าศูนย์ต่อต้านข่าวลวงจังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการ Cofact Thailand กล่าวว่า การทำงานที่ผ่านมาของศูนย์ต่อต้านข่าวลวงจังหวัดขอนแก่น เพื่อรับเรื่องร้องเรียนเรื่องการถูกหลอกลวงจากเครือข่ายและประชาชนเพื่อนำไปสู่การตรวจสอบ และส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือ สร้างกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม เพื่อร่วมกันตรวจสอบข่าวลวง เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เหยื่อที่ถูกหลอกลวง พร้อมกับการให้ความรู้เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง และเพื่อทำข้อเสนอเชิงนโยบายนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการถูกหลอกลวง ในทุกรูปแบบ
โดยทางศูนย์ได้ทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย พร้อมผลิตสื่อที่เน้นการเข้าถึงผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพเป็นจำนวนมากอย่างเช่นการทำเป็นหมอลำ โดยมีดร.ราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร ศิลปินแห่งชาติเป็นผู้แต่งกลอนลำและมีการนำไปทำเป็นแอนนิเมชั่นในรูปแบบการ์ตูนหมอลำเพื่อให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กเยาวชนเพิ่มอีกด้วย
สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ได้มีการถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊ก “ศูนย์ต่อต้านข่าวลวงจังหวัดขอนแก่น”พร้อมเพจภาคีเครือข่ายอีกหลายเพจ ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าไปกดติดตามเพื่อรับฟังข้อมูลและติดตามข่าวสารที่เป็นประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่อง.
#ศูนย์ต่อต้านข่าวลวงจังหวัดขอนแก่น #สสส. #โคแฟค #โคแฟคอีสาน #ศูนย์สื่อเพื่อสุขภาวะภาคอีสาน #ข่าวปลอม #ข่าวลวง

Leave a Response