ผลิตภัณฑ์หญ้าแฝกกำจัดศัตรูพืช ที่แรกของไทย! มข.พัฒนานวัตกรรมกำจัดไส้เดือนฝอย

IMG_9154

Key Point:

🌶️ นวัตกรรมใหม่ช่วยเกษตรกรปลูกพริก

🌱 ใช้หญ้าแฝกควบคุมศัตรูพืชปลอดภัย

🔬 ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ ผ่านงานวิจัยจริง

🧪 พัฒนา 2 สูตร ใช้งานสะดวก-ประสิทธิภาพสูง

📍 ทดสอบจริงที่ ต.ซำสูง จ.ขอนแก่น

💡 ขยายผลสู่เมล่อน-ต่อยอดอุตสาหกรรม

📞 ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมกับนักวิจัยโดยตรง

🧃 รูปแบบผงละลายน้ำ-รองก้นหลุม

🌍 ได้รับการรับรองความปลอดภัยระดับงานวิจัย

📈 ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต สู่เกษตรยั่งยืน

ที่แรกของประเทศไทย! นักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ผศ.ดร.กานต์สิรี จินดาปัณณาพัฒน์ จากคณะเกษตรศาสตร์ และทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ร่วมกันพัฒนา “ผลิตภัณฑ์หญ้าแฝกในการควบคุมไส้เดือนฝอยรากปม” เพื่อเป็นทางเลือกใหม่สำหรับเกษตรกร โดยเฉพาะกลุ่มผู้ปลูกพริก ที่ต้องเผชิญกับปัญหาไส้เดือนฝอยรากปม ซึ่งเป็นศัตรูพืชที่ระบาดหนักในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

ไส้เดือนฝอยชนิด Meloidogyne enterolobii สร้างความเสียหายให้กับรากพืช ทำให้ดูดซึมน้ำและสารอาหารได้น้อยลง ต้นแคระแกร็น ผลผลิตลดลง ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกพริกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ ขอนแก่น ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

จากความร่วมมือของนักวิจัยหลายสถาบัน ทำให้สามารถพัฒนา “ผลิตภัณฑ์หญ้าแฝก” ซึ่งได้ศึกษาสารสำคัญในหญ้าแฝก เช่น สาร Phenolic Content ที่มีฤทธิ์ต้านศัตรูพืช โดยพัฒนาขึ้นมาใน 2 สูตร ได้แก่

สูตรที่ 1: แบบผงละลายน้ำ ใช้งานง่าย เพียงผสมผลิตภัณฑ์ 1 ซอง (50 กรัม) ในน้ำ 1 ลิตร ฉีดพ่นรอบโคนต้นพริกที่มีอายุมากกว่า 1 เดือน ครอบคลุมถึง 200 ต้น และสามารถใช้งานได้ทุก 3 สัปดาห์

สูตรที่ 2: ชนิดผงรองก้นหลุมแบบปลดปล่อยสารช้า (Slow Release) ใช้ 1 ซอง (2 กรัม) หรือ 1 ช้อนชาต่อหลุมปลูก ช่วยควบคุมศัตรูพืชได้นานถึง 1 เดือน ช่วยลดต้นทุนและความถี่ในการใช้ผลิตภัณฑ์

รศ.ดร.ดวงกมล ศักดิ์เลิศสกุล จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในทีมวิจัย เผยว่า ผลิตภัณฑ์นี้ผ่านการทดสอบทั้งในห้องปฏิบัติการ โรงเรือนทดลอง และแปลงจริงของเกษตรกรในตำบลซำสูง จังหวัดขอนแก่น โดยเก็บข้อมูลจากแปลงในหลายหมู่บ้าน เพื่อประเมินผลในดินต่างชนิด ซึ่งผลตอบรับจากเกษตรกรเป็นไปในทิศทางบวก

ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้รับการรับรองความปลอดภัยจากสถานสัตว์ทดลองเพื่อการวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร และมีแผนต่อยอดการใช้งานในพืชผลชนิดอื่น เช่น เมล่อน ที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้เพาะปลูกในปัจจุบัน

สำหรับผู้ที่สนใจใช้งานหรือร่วมพัฒนาในระดับอุตสาหกรรม สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.ดร.กานต์สิรี จินดาปัณณาพัฒน์ โทรศัพท์ 043-202-360 หรืออีเมล Kansji@kku.ac.th

ทีมข่าวขอนแก่นลิงก์

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง