การเลือกตั้งเทศบาล : สะท้อนความล้าหลังและความบกพร่องของประชาธิปไตยไทย

Poster AD

รศ.ดร.พรอัมรินทร์ พรหมเกิด อาจารย์จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งเทศบาลเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา โดยชี้ให้เห็นถึงปัญหาการซื้อสิทธิ์-ขายเสียงที่ยังคงแพร่หลายทั่วประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงความล้าหลังและความบกพร่องของประชาธิปไตยไทย

รศ.ดร.พรอัมรินทร์เปิดเผยว่า การเลือกตั้งเทศบาลฯเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา  เป็นที่รับรู้กันว่ามีการซื้อสิทธิ์ – ขายเสียงเสียงกันอย่างมากทั่วประเทศ  และเราปฏิเสธไม่ได้ว่า “การซื้อสิทธิ์ – ขายเสียง” เป็นปัจจัยสำคัญมากประการหนึ่งที่มีความสำคัญในการเอาชนะกันทางการเมือง  แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าในการเลือกตั้งเทศบาลฯครั้งนี้  ไม่ค่อยมีใครกล้าพูดถึงประเด็นปัญหานี้อย่างตรงไปตรงมามากนัก ที่เป็นเช่นนี้เพราะสังคมไทยเป็น “สังคมปากว่าตาขยิบ” และชอบซุกขยะไว้ใต้พรม  ทำให้ปัญหาสำคัญของประเทศชาติหลายอย่างจึงไม่ได้รับการแก้ไข และปัญหาการซื้อสิทธิ – ขายเสียงสะท้อนให้เห็นถึงความล้าหลังและความบกพร่องของประชาธิปไตยไทย รวมทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เอาใจใส่ของสังคม ของรัฐบาล ของนักการเมือง หน่วยงานของรัฐทั้งหลาย และสถาบันการศึกษาทุกระดับ  ที่ควรมีความสำนึกรับผิดชอบร่วมกันในการแก้ไขปัญหาพื้นฐานของประเทศชาติที่มีมาอย่างยาวนานเช่นนี้

ความจริงแล้วปัญหาเรื่องการซื้อสิทธิ์ – ขายเสียงเป็นเรื่อง “ความไม่ปกติ” ในสังคมประชาธิปไตย  แต่ในสังคมไทยนักการเมืองและผู้คนส่วนใหญ่กลับมองเป็นเรื่องปกติธรรมดา  จนกลายเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองล้าหลังของไทยที่แก้ไขได้ยาก  แต่ถ้าเรายังเห็นว่าเรื่องการซื้อสิทธิ – ขายเสียงเป็นเรื่องปกติธรรมดา และถ้ายังปล่อยให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก  เราสามารถคาดการณ์ได้ว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าและครั้งต่อ ๆไป จะมีการใช้เงินซื้อเสียงชาวบ้านอย่างมโหฬารและเป็นไปอย่างเปิดเผยโจ่งแจ้งมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่มีประเทศจำนวนมากในโลกนี้ได้ก้าวข้ามพ้นจากปัญหาประเภทนี้ไปนานหลายศตวรรษแล้ว

ที่ผมเห็นว่าการซื้อเสียงเป็นเรื่อง “ไม่ปกติ” ที่เกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตย  แต่ในสังคมไทยถือว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา   แต่ทั้งความไม่ปกติธรรมดา  ความล้าหลัง และความบกพร่องของประชาธิปไตยไทยนี้   นับเป็นภัยร้ายแรงและสร้างผลเสียหายต่อสังคมและประเทศชาติเป็นอย่างมากเนื่องจาก

  1. การซื้อเสียงจะนำไปสู่การถอนทุนคืนหรือการทุจริตคอร์รัปชันในทุกโครงการของรัฐ ทั้งในโครงการระดับชาติ ระดับท้องถิ่น  ผลตามมาคือทำให้สังคมและประเทศชาติผุกร่อนเสื่อมทรามลง
  2. ทำให้ดัชนีชี้วัดประชาธิปไตยไทยซึ่งต่ำอยู่แล้วในสายตาชาวโลกจะยิ่งตกต่ำลงไปอีก อันมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติในการตัดสินใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทย  เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติมองว่า  ไทยเป็นประเทศที่มีระบอบการเมืองไม่สะอาดและไม่สุจริตพอ
  3. ต่อไปสังคมไทยจะไม่ได้ตัวแทนที่ดี หรือคนมีอุดมการณ์ประชาธิปไตยเข้ามาทำหน้าที่แทนเรา หรือเป็นตัวแทนที่ต้องการเข้ามาต่อสู้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของสาธารณะ หรือผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก  แต่จะได้ตัวแทนและนักการเมืองที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง  และในท้ายที่สุดการเมืองจะเป็นกิจกรรมเฉพาะของพวกนายทุนนักธุรกิจ  และเศรษฐีมีเงินดังที่เป็นอยู่  และถ้าเรายังปล่อยให้ปรากฏการณ์เช่นนี้ดำรงต่อไปอีก  ต่อไปกิจกรรมทางการเมืองหรือเรื่องราวทางการเมืองจะถูกผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวทางเศรษฐกิจและแผนการทางธุรกิจ  ผลตามมาคือต่อไปการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์อันสูงส่งของมนุษย์,  คุณธรรมและจริยธรรมเพื่อส่วนรวม, จิตสำนึกเพื่อส่วนรวม, อุดมการณ์เพื่อสังคม,  หรือการต่อสู้เรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยและเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ฯลฯ แนวความคิดเช่นนี้จะจืดจางหายไป  เหลือเพียงแค่การเมืองซึ่งเป็นเรื่องการแสวงหาอำนาจเพื่อผลประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง  และกลุ่ม “มนุษย์สีเทา” จะเข้าสู่การเมืองโดยใช้เงินเป็นเครื่องมือเข้าสู่อำนาจทางการเมืองมากขึ้น นับเป็นเรื่องที่น่าหดหู่ใจเป็นอย่างยิ่ง

จากประสบการณ์หลายสิบปีทีผ่านมาผมพบว่า  เราไม่อาจฝากความหวังไว้กับรัฐบาล นักการเมือง และหน่วยงานรัฐทั้งหลาย เนื่องจากคนไทยถูกฉีดยาชาจากกลุ่มผู้มีอำนาจในสังคมเหล่านี้  ไม่ให้สนใจเรื่องการเมืองมายาวนาน  จนกลายเป็น “วัฒนธรรมทางการเมืองที่เฉยชา” ต่อการเมืองและเรื่องส่วนรวม  เมื่อประชาชชนไม่มีความรู้เรื่องการเมืองและประชาธิปไตย ทำให้ขาดความเชื่อมั่นใน “พลังหรือสมรรถนะทางการเมืองของตนเอง” (political efficacy)  ในท้ายที่สุดก็ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของผู้มีอำนาจหรือนักการเมือง  รวมทั้งตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของระบบอุปถัมภ์ และเมื่อมีการเลือกตั้งก็ถูกซื้อเสียงได้ง่าย

ผมขอเรียกร้องให้สถาบันการศึกษาโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยทุกแห่ง  ต้องเอาจริงเอาจังกับการช่วยแก้ไขปัญหาของประเทศชาติเช่นนี้  ผมเห็นด้วยกับการมุ่งหน้าพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  แต่มหาวิทยาลัยก็ควรมีการสร้าง “ความสมดุล” ด้วยการหันมามองปัญหาทางสังคมการเมืองด้วย   โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการซื้อสิทธิ – ขายเสียงที่เป็นปัญหาพื้นฐานสำคัญและเซาะกร่อนกัดกินประเทศชาติมานาน

มหาวิทยาลัยและภาคประชาสังคมหรือภาคพลเมืองที่ตื่นตัว  ควรมีบทบาทในการปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนรู้สึกว่า  ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งแม้ว่าตัวเขาจะยากจนหรือเป็นคนธรรมดา  แต่เขาก็มีเกียรติมีศักดิ์ศรีเหมือนมนุษย์คนอื่น  ความเป็นมนุษย์ไม่ควรที่จะถูกซื้อด้วยเศษเงินของนักการเมือง แล้วเป็นสาเหตุทำให้นักการเมืองทุจริตคอร์รัปชันในโครงการต่าง ๆของรัฐที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของพวกเขา และเรายังได้นักการเมืองสีเทาเข้ามาบริหารประเทศเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง