“ ปะจัน “ โดย “เขี้ยวจัน ”
ปีที่ 3 : ตามที่ใจสั่งมา……..
ที่นี่….ไม่ใช่คอลัมน์ร้องทุกข์ แต่เป็น การสังคมอุดมปัญญา ลุกขึ้นมา “ทวงสิทธิ” ของการเป็นพลเมืองผู้ตื่นรู้ เจ้าของคะแนนเสียงที่เลือก”ตัวแทน” ในทุกระดับ ของการปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารบ้านเมือง ด้วยข้าราชการ “ตัวแทน” จากส่วนกลาง ทุกกระทรวง ทบวง กรม [ หน้ารวมบทความ ปะจัน]
เวทีระดับชาติของการปกครองระบบประชาธิปไตย ผ่านการเลือกตัวแทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร-สส. 400 คน ผ่าน 400 เขต ครั้งล่าสุด เมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา พวกเขาทำงานผ่านเวทีสภาผู้แทนราษฎร มีรัฐบาลบริหารประเทศไปแล้วตามที่รู้กัน
ย่อพื้นที่ลงมาที่จังหวัดขอนแก่น มีประชากรจำนวน 1.78 ล้านคน มี 2,668 หน่วยเลือกตั้ง จาก 26 อำเภอ แบ่งเป็น 11 เขต มี สส. 11 คน โดยเป็น สส. ชุดที่ 26 ได้แก่
1. นายวีรนันท์ ฮวดศรี
2. นายอิทธิพล ชลธราศิริ
3. นายชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง
4. นายเอกราช ช่างเหลา
5. นายภาควัต ศรีสุรพล
6. นายสิงหภณ ดีนาง
7. นายสุรพจน์ เตาะเจริญสุข
8. นางสาววิภาณี ภูคำวงศ์
9. นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร
10. นายวันนิวัติ สมบูรณ์
11. นายองอาจ ฉัตรชัยพลรัตน์
จะได้รับคะแนนเลือกตั้งมาเท่าไหร่ ก็กลายเป็นประวัติศาสตร์กันไป เพราะพวกเขาล้วนเป็น สส. จากคำพูดแซวกันว่า “เกือบได้” และ “เกือบตก”
หน้าที่โดยสังเขปของ สส. ได้แก่:
1. การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ: เป็นผู้มีสิทธิเสนอร่างพระราชบัญญัติ และเป็นผู้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
2. การพิจารณาพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี
3. การอนุมัติพระราชกำหนด ซึ่งพระราชกำหนดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. พระราชกำหนดทั่วไป 2. พระราชกำหนดเกี่ยวด้วยภาษีอากรและเงินตรา
4. การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยการเป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ในการเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ
5. การตั้งคณะกรรมาธิการ
6. การให้ความเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี
สส. มีเงินเดือน 71,230 บาทต่อเดือน และเงินเพิ่ม 42,330 บาทต่อเดือน รวมเป็นเงินในกระเป๋า 113,560 บาทต่อเดือน
การทำงานของ สส. เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ และเชื่อมพื้นที่ของประชาชนในเขตของตัวเอง เชื่อว่าพวกเขารู้งานกันดี ในพื้นที่เขตเลือกตั้ง เราจึงมักเห็นพวกเขาปรากฏตัวในงานสังคม งานบวช งานแต่ง งานศพ งานบุญ งานเทศกาล ฯลฯ
ส่วนสมาชิก อบจ. ชุดล่าสุด เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา คงต้องรอการรับรองจาก กกต. กันก่อน พื้นที่ขอนแก่น 42 เขต / 42 คน ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เช่นเดียวกับ สส. ที่ย่อส่วนลงมาและไม่เผ็ดร้อนเท่าเวทีระดับชาติ …แต่อาจมีบางพื้นที่ที่การบริหารงานอาจไม่ราบรื่น เมื่อมากันต่างพรรค
ประชาชนไม่ได้หมดหน้าที่แค่การหย่อนบัตรเลือกตั้ง การติดตามการทำงานของนักการเมืองทุกระดับ จึงเป็นหน้าที่พลเมืองด้วยเช่นกัน…….เสมือนการทำงานของผู้บริหารมืออาชีพ ที่ต้องมีตัวชี้วัดที่เรียกกันว่า KPI หรือแบบบ้านๆ คือ การจ้างงานที่ควรคุ้มค่ากับ “นายจ้าง”
#ขอนแก่น #การเมืองท้องถิ่น #สภาผู้แทนราษฎร #ติดตามนักการเมือง #เลือกตั้ง2566
Leave a Response