งบเทศบาลนครขอนแก่น 792 ล้านบาท @ขอนแก่น

งบเทศบาลนครขอนแก่น 792 ล้านบาท @ขอนแก่น

คอลัมน์ “รู้จริง ถิ่นเฮา
โดย “น้องดอกคูน”
….เรื่องเล่า อ่านสนุก ซอกมุมของบรรพบุรุษ และมองออกไปเบื้องหน้า ในบริบทของ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เมื่อทุกเรื่องม้วนร้อย เป็นมิติเดียวกัน เหลืองสะพรั่งของดอกคูณ และ เสียงแคน แล่นแต้ มาแล้ว………….
   

ชาวขอนแก่น ที่อาศัยในเขตเทศบาลนครขอนแก่น  รู้กันยัง ??  ว่า ปี งบประมาณ 2566 มีงบประมาณ 792 ล้านบาท……

แนวคิดและนโยบาย กระจายอำนาจการปกครอง ลงสู่ท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นบริหาร จัดการตัวเอง เริ่มมาตั้งแต่ปี 2540 หรือ ราว 25 ปีก่อน เราจึงเริ่มคุ้นเคยกับ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด-นายก อบจ. นายกองค์การบริหารส่วนตำบล-นายก อบต.  จัดว่าเป็น “นักการเมืองระดับท้องถิ่น”  ที่คนในท้องถิ่น ชุมชนนั้นๆ ลงคะแนนเสียง เลือกตัวแทนของตัวเอง มาบริหารงาน ตามแนวทางประชาธิปไตย แบบมีส่วนร่วม ผ่านตัวแทน

โครงสร้าง ที่ถูกวางไว้ ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร เป็นตัวตั้ง แบบขนาดเล็กสุด ไล่ขึ้นมา คือ เทศบาลตำบล เมือง นคร  องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด  และมีจำนวนสมาชิก เท่าใด ดูได้จาก ตารางแนบ ที่อยู่ในบทความนี้แล้ว

วันนี้ ขอเล่า เรื่อง เทศบาลนครขอนแก่น ละกันนะ…ตามจั่วไว้เรื่องว่า งบประมาณ ปี 2566 คือ 792 ล้านบาท…

เทศบาลนคร ในประเทศไทย มีจำนวน 30 แห่ง เทศบาลนครขอนแก่น  เป็น 1 ในนั้น และมีผลงานการบริหาร เป็นเบอร์ต้นๆ ของประเทศ เช่นกัน

มีสมาชิกสภาเทศบาลนครขอนแก่น   จำนวน 24 คน มีนายกเทศมนตรี 1 คน ปัจจุบัน คือ นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์  จำกันได้ ใช่ไหม ล่าสุดของการไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง เมื่อ มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา

สภาเทศบาลนครขอนแก่น   มีการบริหารงาน แบบจำลอง ย่อส่วน มาจาก งานของรัฐสภา ตามที่เราเห็นกันใน โทรทัศน์ นั่นแหละ คือ มีประธานสภา มีสมาชิก ที่ต้องลงมติ หรือโหวตลงคะแนน ในวาระต่างๆของการบริหารงาน ตามที่ฝ่ายบริหาร-คือ นายกเทศมนตรี นำเสนอเข้ามา พูด ฟังง่ายๆ คือ เหมือนการทำงานของ ท่านนายกรัฐมนตรี-พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นั่นแหละ ต่างกันเพียงเป็นการทำงานระดับ ท้องถิ่น คราวนี้ง่ายขึ้นไหม….

ด้านเงินงบประมาณ  “นายกลุงตู่”  ก็ต้องนำเสนอยกร่างงบประมาณ ให้สภาฯ ลงมติเห็นชอบ สำหรับเทศบาลนครขอนแก่น ก็เช่นกัน  พบว่า มีสมาชิกสภาเทศบาลนครขอนแก่น ที่เป็น”อีกขั้ว” ของการเมืองท้องถิ่น  จะเรียกแบบภาษาบ้านๆ เข้าใจกันง่ายๆว่า เป็น “ฝ่ายค้าน” ล่ะกัน ทำให้งบประมาณ ถูกพิจารณาแบบ ละเอียดยิบๆ ถูกซักค้าน มีประเด็น ปัดตก และอื่นๆ  ส่งผลให้การบริหารงาน ติดๆ ขัดๆ ดับๆ ติดๆ เหมือนหลอดไฟไส้เสื่อม  ผลกระทบ จึงตกลงไปที่ ชาวนครขอนแก่น ที่เขาเล่าลือกันว่า “การเมือง” ยุคนี้แรงไม่แพ้ระดับประเทศ

จริงอยู่ แม้จะมีการขออิสระในการบริหารจัดการท้องถิ่นตัวเอง แต่พบว่าการจัดเก็บรายได้ของท้องถิ่น ยังไม่เพียงพอ จึงต้องมีการร้องของบประมาณจากส่วนกลาง  เรียกว่า เป็น “เงินอุดหนุน” ซึ่งแบ่งเรียกออกเป็น 2 ปะเภท คือ “เงินอุดหนุนทั่วไป”  และ “เงินอุดหนุนเฉพาะกิจตามอ่านกันได้ที่เอกสารแนบ

การแบ่งงาน การกระจายงาน มาบริหาร จัดการตัวเอง ของท้องถิ่น จึงยังเป็นภาพที่ปรากฏ เพียงในเอกสาร และ การจัดวาง “นักการเมืองระดับท้องถิ่น”  ส่วนการบริหารงบประมาณ ยังไม่ขาดจากส่วนกลาง การกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น จึงอาจต้องรอเวลา …..

แม้กระทั่ง การปกครองแบบพิเศษ อย่าง เมืองพัทยา และ กทม. ยังต้องมีเงินอุดหนุนจากส่วนกลาง เช่นกัน

ความซับซ้อน ที่ทับถมลงมา ทำเกิด “ปม” ที่เพิ่มขึ้น ยากต่อการ “แก้ปม”  ยิ่งกว่า “ลิงแก้แห “  หนทางแสงสว่างปลายอุโมงค์ ที่ทุกคนรู้ดี แต่ยังไม่ได้เริ่มกันสักที แม้จะผ่านวิกฤติ มากี่รอบแล้วก็ตาม อาการ “ลืมเร็ว”  ของคนไทย ทำให้เกิดอาการ “เจ็บแบบไม่รู้จำ”  อยู่ร่ำไป…

แสงสว่างปลายอุโมงค์ ที่รู้ดีกันทุกคน คือ การวางประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง แล้วช่วยกันพัฒนาท้องถิ่น ประเทศชาติของเราร่วมกัน

คุณๆล่ะ คิดยังไงกันบ้าง…. จะปล่อยบ้านเมือง เดินไร้ทิศทาง เช่นนี้ เรื่อยไป รื ???…….

   

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง