ที่ บ.นาท่าลี่ ม.4 ต.นาฝาย อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น นายพนม สิงห์สาย พัฒนาการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วย นายประจวบ จิตรคุ้ม ปลัดอำเภอภูผาม่าน ร่วมเป็นประธานเปิดนิทรรศการโปรแกรมของผู้ประกอบการชุมชน ตามโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Decentralized Hand-On Program Exhibition) หรือ (D-Hope) ซึ่งสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอภูผาม่าน ได้กำหนดจัดกิจกรรมขึ้น โดยมีนักท่องเที่ยวเข้าร่วมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด
นายพนม สิงห์สาย พัฒนาการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนยังคงมุ่งเน้นสนับสนุนการจัดโปรแกรมเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ที่นักท่องเที่ยว ลงมือปฏิบัติ ตามโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Decentralized Hand on Program Exhibition) หรือ D-HOPE ซึ่ง อ.ภูผาม่าน เป็นอีก 1 พื้นที่ของ จ.ขอนแก่น ที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจและเข้าร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เห็นได้ชัดว่าภายหลังมาตรการโควิดที่ผ่อนคลายลง ทำให้นักท่องเที่ยวทยอยเข้าร่วมกิจกรมและท่องเที่ยวในโปรแกรมหรือฐานต่างๆที่ชุมชนได้กำหนดไว้คึกคักเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก
“ที่ บ.นาท่าลี่ แห่งนี้ได้กำหนดเส้นทางการท่องเที่ยวและการจัดกิจกรรมร่วมกับชุมชนรวมทั้งสิ้น 10 โปรแกรม ประกอบด้วย การทำซุปกลางนา, การทำโมบายใบลาน ปลา นก, การทำแจ่วบองผักปลอดสารพิษ, การทำกะหรี่พัฟสามใบเถา, การทำสานชะลอมจิ๋ว,การทำน้ำมะขามน้ำผึ้ง,การทำข้าวเฮียงบ้านนาท่าลี่, การทำกล้วยฉาบน้ำผุด, การทำไม้เกาหลังกะลาและการทำลี่จิ๋วบ้านนาท่าลี่ ทั้งหมดเพื่อให้ผู้ประกอบการชุมชนได้รับการพัฒนาศักยภาพ ในด้านการบริหารจัดการชุมชนท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างแท้จริง”
นายพนม กล่าวต่ออีกว่า ทุกกิจกรรมที่กำหนดไว้ในโปรแกรมท่องเที่ยวนั้นเป็นการนำเสน่ห์และวิถีชุมชนมากำหนดเป็นจุดขายและให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวชมวิถีชุมชนแห่งนี้ได้ร่วมกิจกรรมท่องเที่ยวแบบลงมือทำ ซึ่งถือเป็นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่สมบูรณฺแบบที่สุด อย่างไรก็ตามหมู่บ้านดีโฮปแห่งนี้ สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลทั้ง ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มุ่งเน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน และส่งเสริมให้เกิดการสร้างประสบการณ์ร่วมกันระหว่างชุมชนกับนักท่องเที่ยว โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ถ่ายทอดองค์ความรู้ท้องถิ่นผ่านกิจกรรม ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนในชุมชนกับนักท่องเที่ยว และยังเป็นกระแสการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ที่มีแนวคิดของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ทั้งยังมีการนำแนวคิด BCG Model มาประยุกต์เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาชุมชนที่ดี และต่อยอดให้เป็นการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป
Leave a Response