ขอนแก่นประชุมโครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูล แก้ปัญหาภัยแล้ง   


28 เมษายน 60 21:10:57

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 28 เม.ย. นายปิยิน ตลับนาค ปลัดจังหวัดขอนแก่น ได้มาเป็นประธานการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมรูปแบบการพัฒนาโครงการบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ฃี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ณ ห้องมงกุฎเพชร โรงแรมโฆษะ ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งมี น.ส.ฉวี วงค์ประสิทธิพร ผู้อำนวยการด้านวิศวกรรม กรมชลประทาน หัวหน้าโครงการฯ ดำเนินงาน โดยมีผู้เข้าร่วม นายวุฒินนท์ คำเดช ผู้เชี่ยวชาญด้านวางโครงการ ฯ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 100 คน เข้าร่วมนำเสนอผลของการศึกษาของโครงการ ด้านวิศวกรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม

สืบเนื่องจากงานศึกษาความเหมาะสมรูปแบบการพัฒนา โครงการโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง เป็นโครงการที่ใฃ้ประโยชน์จากสภาพภูมิประเทศที่เป็นพื้นที่สูงมีระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ปากน้ำเลย อ.เชียงคาน จ.เลย ที่ระดับสูงสุด + 212 ม.รทก. ไหลผ่านอุโมงค์ผันน้ำโดยแรงโน้มถ่วงและกระจายน้ำผ่านคลองส่งน้ำโดยแรงโน้มถ่วงให้พื้นที่การเกษตร โดยแนวคิดการผันน้ำโขงโดยแรงโน้มถ่วงนั้น จุดเริ่มต้นผันน้ำต้องเป็นจุดที่แม่น้ำโขงสูงที่สุด เพื่อให้มีความมั่นใจว่าจะสามารถผันน้ำได้ตามปริมาณที่ต้องการในช่วงที่เหมาะสม ครอบคลุมพื้นที่ที่มีศักยภาพในการรับการผันน้ำโขงจากปากแม่น้ำเลย การพัฒนาเต็มศักยภาพครอบคลุมพื้นที่ภาคอีสานทั้ง 3 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำโขงอีสาน ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล รวม 20จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน)

นายวุฒินนท์ คำเดช ผู้เชี่ยวชาญด้านวางโครงการ ฯ กล่าวว่า ภาคอีสานเป็นที่ราบสูงและมีพื้นที่เป็นชลประทานส่วนใหญ่ เพราะมีฝนค่อนข้างน้อย ไม่สม่ำเสมอ เกิดอุทกภัยภัยแล้งรุนแรงทุกปี การใช้ทรัพยากรจึงใช้ได้น้อย เป็นเหตุให้ประชากรในภาคอีสานมีรายได้ต่ำสุดกว่าทุกภาคในประเทศ เมื่อเกิดหน้าฝนน้ำท่วม หน้าแล้งไม่มีน้ำ จนหลายพื้นที่จะเป็นทะเลทราย ดังนั้น จึงต้องมีการศึกษาความเหมาะสมรูปแบบการพัฒนาโครงการบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง เพื่อแก้ปัญหาฝนทิ้งช่วง ฤดูแล้งมีน้ำทำนา

โครงการนี้ได้ศึกษามาตั้งแต่ปี 2549 กระทั่งปี 2551 ได้สรุปว่าจะผันน้ำโขงเข้ามาผ่านบริเวณปากน้ำเลยโดยแรงน้ำถ่วง หลังจากนั้นกระจายน้ำไปในพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัดได้ตลอดปี หลังจากนั้นกรมชลประทานขยายผลการศึกษาต่อในด้านความเหมาะสม ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ จึงได้ยืนยันว่ามีคุ้มค่าการลงทุน และได้พื้นที่ชลประทานสุทธิ 33.50 ล้านไร่ ในพื้นที่ 20 จังหวัด 281 อำเภอ โดยต้องปรับปรุงองค์ประกอบ อาทิเช่น ปรับปรุงแม่น้ำเลย ขุดคลองชักน้ำ ก่อสร้างขุดเจาะอุโมค์ผันน้ำ และสร้างคลองส่งน้ำ 6 สาย ความยาวประมาณ 2,000 กว่ากิโลเมตร เพื่อกระจายน้ำไปทั่วภาคอีสานควบคุม 30 ล้านไร่

น.ส.ฉวี วงค์ประสิทธิพร ผู้อำนวยการด้านวิศวกรรม กรมชลประทาน หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชีมูล โดยแรงโน้มถ่วง กรมชลประทานได้ศึกษามาตั้งแต่ปี 2555 เพราะจะได้น้ำมากขึ้นทั่วภาคอีสานตลอดทั้งปี ค่าก่อสร้างถูกลงพร้อมกับคุ้มทุนมากขึ้น ผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการทำอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในประเทศ และโครงการนี้แก้ปัญหาภัยแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

“โดยเฉพาะภาคอีสานพึ่งฝนเป็นหลัก ถ้าดำเนินการในโครงการบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ชี มูล ประชาชนในภาคอีสานจะได้น้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี โดยนำน้ำโขงที่เป็นต้นน้ำเข้ามาได้ด้วยแรงโน้มถ่วง น้ำโขงจะไหลเข้ามาในโครงการเรื่อยๆ ทำให้เกษตรกรจะผันน้ำได้เข้ามาในได้ตลอดทั้งปี โครงการนี้ยังมีพื้นที่พาน้ำไกลไปจากแม่น้ำที่มีอยู่ในหลายจังหวัดในภาคอีสาน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง ทำให้หมดปัญหาภัยแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นส.ฉวี วงค์ประสิทธิพร กล่าว

นส.ฉวี กล่าวเพิ่มเติม ว่า ผลประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ โขง เลย ชี มูล จะได้เพิ่มปริมาณน้ำในลุ่มน้ำด้วยแรงโน้มถ่วง เพิ่มพื้นที่ชลประทานฤดูฝน และฤดูแล้ง เติมน้ำให้กับแหล่งเก็กกักไว้ใช้ในฤดูแล้ง เพิ่มรายได้ภาคเกษตร ส่งน้ำให้พื้นที่วิกฤติแห้งแล้งที่ส่งน้ำยากได้ นอกจากนี้เป็นแหล่งน้ำสำหรับการประปา การอุปโภคบริโภค การประมง อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว และช่วยลดการอพยพแรงงานภาคเกษตรออกจากภาคอีสานไปยังกรุงเทพฯ และภาคอื่นๆ เพิ่มการจ้างงาน ทำให้อัตราการว่างงานลดลง พร้อมกับยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของคนภาคอีสานทำให้มีคนจนลดลง

ขอขอบคุณภาพและข่าวจาก คุณก่อสิทธิ์ กองโฉม







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS