ขอนแก่น สนทช.หาทางออกน้ำท่วมซ้ำซาก-ขาดแคลนน้ำ   


29 พฤศจิกายน 62 11:52:28

สนทช.ระดมความเห็นศึกษาพื้นที่ลุ่มน้ำชี เพื่อจัดทำแผนหลักบริหารจัดการทรัพยากร กลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประสบทั้งปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและปัญหาขาดแคลนน้ำอันเกิดจากฝนทิ้งช่วงในฤดูฝนและการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง
 
    เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 27 พ.ย. สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) สำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดการประชุมกลุ่มย่อยในพื้นที่ศึกษา ครั้งที่ 1 พื้นที่ลุ่มน้ำชี โครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ ห้องเอราวัณ โรงแรมพูลแมน ราชา ออคิด จ.ขอนแก่น โดยมี นายเอวิสันต์ กู้เกียรติศักดิ์  ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารจัดการลุ่มน้ำ 2 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย คณะกรรมการลุ่มน้ำ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้าร่วมประชุมคับคั่ง

    ผศ.ดร.ณัฐ มาแจ้ง ผู้จัดการโครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการน้ำทรัพยากรน้ำ กลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ 103.5 ล้านไร่ หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศ มีลุ่มน้ำหลักที่สำคัญ 3 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล มีพื้นที่การเกษตรมากที่สุดของประเทศ คือ 63.85 ล้านไร่ แต่เป็นพื้นที่เกษตรชลประทานเพียง 8.06 ล้านไร่ (ร้อยละ 12.62 ของพื้นที่การเกษตร) และยังขาดความมั่นคงในเรื่องน้ำ เนื่องจากความไม่สมดุลของการกระจายตัวของฝนและลักษณะภูมิประเทศ ประสบทั้งปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและปัญหาขาดแคลนน้ำอันเกิดจากฝนทิ้งช่วงในฤดูฝนและการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง แหล่งกักเก็บน้ำต้นทุนมีน้อย ทำให้ผลผลิตข้าวนาปีในพื้นที่นาน้ำฝนต่ำกว่าผลผลิตในพื้นที่นาชลประทานถึง 1 ใน 3 เกษตรกรในภาคอีสานมีรายได้เฉลี่ยต่อปีต่ำที่สุด หรือคิดเป็นร้อยละ 60 ของรายได้เฉลี่ยของเกษตรกรทั้งประเทศ นอกจากนี้ยังประสบปัญหาดินเค็มถึง 10.48 ล้านไร่
   ดังนั้น การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อให้เกิดการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ สมดุล เป็นธรรมและยั่งยืน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560 - 2564) และแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรน้ำ ในระดับลุ่มน้ำเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการใช้น้ำในทุกกิจกรรม ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวยังไม่ได้ดำเนินในเชิงบูรณาการแผนการบริหารจัดการน้ำทรัพยากรน้ำในระดับพื้นที่อย่างเป็นเอกภาพ สนทช.หน่วยงานหลักในการจัดทำแผนบริหารน้ำของประเทศ จึงได้ดำเนินการจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้มีการบูรณาการและจัดทำแนวทางแก้ไขอย่างยั่งยืน
 
    วันนี้จึงได้แนะนำโครงการฯ พร้อมกับประชุมกลุ่มย่อย เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าผลการศึกษา แนวทางการพัฒนาทรัพยากรน้ำเชิงยุทธศาสตร์แบบบูรณาการ แผนปฎิบัติการและแนวทางการบริหารจัดการน้ำแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สุดท้ายสรุปความคิดเห็น และข้อเสนอแนะในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับโครงการฯจากผู้เข้าร่วมประชุมเพื่อนำไปประกอบการศึกษาโครงการให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น
 
    "สทนช.คาดว่าจะสามารถจัดทำแผนหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และแผนปฏิบัติการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระยะ 5  10  15  และ 20 ปี ที่บูรณาการแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์น้ำได้อย่างยั่งยืน ให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2563 พร้อมทั้งจะเร่งรัดการดำเนินการในโครงการที่มีความพร้อมในทันที อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และปัญหาคุณภาพน้ำ ที่เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดได้อย่างรวดเร็ว และตรงกับความต้องของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง" ผศ.ดร.ณัฐ มาแจ้ง ผู้จัดการโครงการฯ กล่าว.






เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS