ชลประทาน 6 ยืนยัน! มีน้ำพออุปโภคบริโภคจนถึงต้นฤดูฝนหน้า (มีคลิป)   


19 ตุลาคม 62 12:19:46

ขอนแก่นบินสำรวจเขื่อนอุบลรัตน์ และแหล่งน้ำผลิตประปา  เหลือน้อย วอนประชาชนต้องประหยัดใช้น้ำชป. 6 ยืนยันมีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคจนถึงต้นฤดูฝนหน้า

     เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 18 ต.ค. นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น พร้อมด้วย นายเรืองโชค ชัยคำรงค์กุล ผอ.โครงการชลประทานขอนแก่น และ ผอ.ศูนย์ปฎิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ขึ้นบินสำรวจสถานการณ์น้ำบริเวณเขื่อนอุบลรัตน์ และสำรวจหาแหล่งน้ำในการผลิตน้ำระปาในเขตพื้นที่ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น 
     หลังจากนั้น นายสมศักดิ์ ผวจ.ขอนแก่น ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ว่า วันนี้ได้ใช้เฮลิคอปเตอร์ของศูนย์ปฎิบิติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือในการบินสำรวจระดับน้ำบริเวณเขื่อนอุบลรัตน์ และลุ่มน้ำใน จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกของจังหวัด พบว่าสภาพอากาศเริ่มแห้งแล้ง โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 14 แห่ง ที่กระจายตัวใน 26 อำเภอ มีปริมาณน้ำ 105 ล้าน ลบ.เมตร เหลือน้ำ 74 ล้าน ลบ.เมตร และเขื่อนอุบลรัตน์ขณะนี้มีน้ำประมาณ 614 ล้าน ลบ.เมตร ต่ำกว่าเมื่อปี 2558 ซึ่งมีความแห้งแล้งมากตั้งแต่ตั้งเขื่อนอุบลรัตน์เป็นต้นมา ทางจังหวัดจึงอยู่ในช่วงเฝ้าระมัดระวังเรื่องน้ำอย่างเต็มที่ ประชาชนชาว จ.ขอนแก่น และชาวภาคอีสานทั้งหมด ขอให้ระวังเรื่องน้ำกินน้ำใช้ น้ำเพื่อการเกษตร


    โดยเฉพาะศูนย์ปฎิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับการร้องขอจากประชาชนในภาคอีสานให้ทำฝนหลวง แต่เมื่อความชื้นไม่เหมาะสมที่จะทำฝนหลวง เจ้าหน้าที่ฝากความหวังไว้ว่าในสัปดาห์หน้าอาจจะมีอากาศเย็นลงมา และมาปะทะกันจะก่อให้เกิดความชื้นอยู่บ้าง ก็จะทำฝนหลวงได้ แต่ก็ได้ปริมาณน้อยมาก และไม่เกิดน้ำสะสมในแหล่งน้ำของจังหวัดแก้ภัยแล้งได้ ดังนั้น ประชาชนต้องเข้าสู่การประหยัดน้ำกิน น้ำใช้ และน้ำเพื่อการเกษตรอย่างเต็มตัว โดยจังหวัดจะมีคณะกรรรมการบริหารจัดการน้ำเพื่อจัดสรรน้ำกินน้ำใช้ให้ประชาชนได้พ้นภัยแล้งจนไปถึงช่วงหน้าฝนปี 2563 
    นายสมศักดิ์ ผวจ.ขอนแก่น กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อ 10 วันที่ผ่านมา อ.ชุมแพ ได้รับผลกระทบน้ำไหลเข้าระบบผลิตน้ำประปาในอ.ชุมแพได้น้อยมาก การประปาส่วนภูมิภาค อ.ชุมแพ จึงได้แก้ไขลดความดันในการส่งน้ำเข้าสู่ระบบประปา พร้อมได้ร้องขอไปที่เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ  ปล่อยน้ำ 2 ล้าน ลบ.เมตร เข้าสู่ระบบลำน้ำเชิญ เข้ามาสู่การผลิตน้ำประปา อ.ชุมแพ ซึ่งแก้ไขปัญหาไปได้ระยะหนึ่ง ซึ่งอัตราการระเหยของน้ำค่อนข้างสูงมาก และเหลือน้ำผลิตน้ำประปา อ.ชุมแพ ประมาณ 5 แสน ลบ.เมตร ดังนั้นประชาชนชาว อ.ชุมแพต้องมีบริหารจัดการน้ำ ใช้น้ำอย่างประหยัด และต้องสู่กับการขาดน้ำกิน น้ำใช้ น้ำเพื่อการเกษตร ไปจนถึง 31 พ.ค. 2563 ที่จะเข้าสู่ฤดูฝนใหม่ที่ยังเหลืออีก 8 เดือนข้างหน้า ทางจังหวัดโดยภาครัฐ ภาคเอกชน นำรถบรรทุกน้ำนำน้ำไปแจกจ่ายให้ประชาชนที่ประสบภัยแล้งให้มีน้ำกิน น้ำใช้ อย่างต่อเนื่อง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีส่วนในการขุดเจาะบ่อบาดาลเพิ่มเติม ขอให้เร่งสำรวจขุดเจาะบ่อบาดาลโดยเน้นจุดที่ใกล้กับแหล่งผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน หรือแหล่งที่จะไปเสริมประปาภูมิภาค    
    นายศักดิ์ศิริ  อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 ขอนแก่น  เปิดเผยว่าสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ 3 แห่ง ได้แก่
    - เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 615 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 25 ของความจุเก็บกัก มีน้ำใช้การได้อยู่เพียง 34 ล้าน ลบ.ม. 
    - เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 50 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 30 มีน้ำใช้การได้ 13 ล้าน ลบ.ม. ทั้ง 2 เขื่อนมีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยมาก 
    - ส่วนเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ มีน้ำประมาณ 1,656 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 83 น้ำใช้การได้ 1,556 ล้าน ลบ.ม. อยู่ในเกณฑ์น้ำมาก     สำหรับอ่างฯ ขนาดกลาง 69 แห่ง มีปริมาณน้ำรวม 331 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 75 ของความจุรวม มีความจุมากกว่า 100% จำนวน 5 แห่ง             

    สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้วางมาตรการในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง 62/63 ซึ่งได้มีการประชุมร่วมกับทุกภาคส่วนให้ทราบถึงสถานการณ์น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยจัดลำดับความสำคัญให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ การสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนหน้า การเกษตรและอุตสาหกรรม ตามลำดับ  โดยการบริหารจัดการน้ำเขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนจุฬาภรณ์ ซึ่งมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยมาก มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศ ไปจนถึงสิ้นสุดฤดูแล้ง62/63 เท่านั้น ส่วนเขื่อนลำปาวที่มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับจัดสรรให้กับทุกกิจกรรมตั้งแต่จังหวัดกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี             
    อย่างไรก็ตาม ขอเรียนยืนยันว่าสำนักงานชลประทานที่ 6 กรมชลประทาน ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะบริหารจัดการน้ำต้นทุนที่มีอยู่ให้เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคจนถึงต้นฤดูฝนหน้า และขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วนร่วมกันตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรน้ำ มีวินัยในการใช้น้ำตามแผนการบริหารจัดการน้ำที่ได้วางไว้ และใช้น้ำอย่างประหยัด คุ้มค่า เพื่อให้ไม่ขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค.

ติ๊ก บังอร ขอนแก่น  /  รายงาน







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS