ที่ปรึกษาสนช.ตั้งคำถามความเหมาะสม สามเณรแข่ง e-sport   


20 สิงหาคม 62 09:11:39

กรณีที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) วิทยาเขตหนองคาย จัดงานวิชาการและสัปดาห์วิทยาศาสตร์ และจัดแข่งขันการแข่งขันกีฬา อิเล็กโทรนิกส์อาร์โอวี (ROV) ระดับมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ผลปรากฏว่ารางวัลชนะเลิศ ตกเป็นของทีมที่ประกอบด้วย สามเณร 4 รูป จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักนั้น

    เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม นายสาคร ชนะไพฑูรย์ ที่ปรึกษาสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ในฐานะที่ทำงานด้านการส่งเสริมนวัตกรรม และการใช้เทคโนโลยีนั้น ยืนยันว่าการแข่งขันกีฬาประเภท อี-สปอร์ต หรือกีฬา ประเภทบุคคลหรือทีมชนิดหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของกีฬาที่เกี่ยวกับการแข่งขันวิดีโอเกม โดยมีการแข่งตามประเภทของวิดีโอเกม ที่มีเรื่องของการวางแผน มีทั้งการสู้รบ และการวางแผนอย่างอื่น แล้วแต่การออกแบบ การส่งเสริมการเล่นอี-สปอร์ต นั้นทำให้เกิดทักษะ และมีความเชี่ยวชาญการใช้คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกมอาร์โอวี เป็นเรื่องของการวางแผน หากเล่นเป็นทีมก็ต้องมีการวางแผนร่วมกัน วางกลยุทธ์ร่วมกันถึงจะเอาชัยชนะมาได้

นายสาคร ชนะไพฑูรย์ นายสาคร ชนะไพฑูรย์ 
          
    "แต่กรณีที่กลุ่มสามเณรเข้ามาแข่งขันกีฬาประเภทนี้ก็ต้องตั้งคำถามถึงความเหมาะสม เช่นกัน อย่างแรกเลย ในแง่ศีลธรรม และธรรมวินัยผิดหรือไม่ สามเณรควรใช้เวลาในการศึกษาพระธรรมหรือไม่ ต่อมาผู้ที่รับสมัครการแข่งขันพิจารณาในแง่ของความเหมาะสมกันอย่างไร ผมก็มองว่าแม้จะไม่ผิดศีลธรรมหรือผิดวินัยของการเป็นสามเณร แต่ในเรื่องความเหมาะสมนั้น สังคมไทยคิดว่าเหมาะสมหรือไม่" นายสาครกล่าว

คณบดี ยัน "4เณร" ไม่ผิดวินัย ลั่นแข่งฝึกทักษะไม่ใช่ROV 
   ด้าน ผศ.ดร.นงราม เหมือนฤทธิ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ทางมหาวิทยาลัยได้จัดกิจกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2562 ระหว่างวันที่ 15-18 ส.ค. เป็นการจัดงานร่วมกัน 2 งาน เนื่องจากสำนักงานบริการวิชาการ ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์ ให้เด็กได้แสดงความสามารถที่เด็กชอบออกมา และเป็นการให้นักศึกษาทั้ง 4 คณะของวิทยาเขตหนองคายได้มีเวทีในการนำเสนอความรู้มาใช้จริงในรูปแบบของสตาฟจัดการแข่งขัน เป็นผู้ให้ความรู้ และเป็นวิทยากร ซึ่งกิจกรรมมีหลากหลายทั้งการประกวดแข่งขันทักษะวิชาการ และการกีฬา ฟุตซอล, e-sport รวม 29 กิจกรรม สำหรับ e-sport เป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่สาขาคอมพิวเตอร์ฯ ต้องเข้ามามีบทบาท โดยมีคณะกรรมการคัดเลือกคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมการแข่งขันก่อนจะประกาศให้ทราบว่า โรงเรียนใดมีคุณสมบัติเข้าร่วมได้ ซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา หรือเทียบเท่า โดยโรงเรียนพระปริยัติธรรมก็เทียบเท่าโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วไป ซึ่งหลักเกณฑ์จะเป็นทางโรงเรียนเป็นผู้สมัครเข้าร่วมกิจกรรม ไม่ใช่ตัวนักเรียนสมัครเอง

    สำหรับการแข่งขัน e-spot มีอยู่ 2 รายการ คือ  ROV และ speed drifter ซึ่งสามเณรที่ชนะเลิศ ไม่ใช่ ROV แต่เป็น speed drifter แต่คนทำป้ายด้านหลังเวที ทำระบุไว้เฉพาะ ROV ทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่าเป็นรางวัลชนะการแข่งขัน ROV ทางมหาวิทยาลัยเห็นว่าทุกคนเป็นเด็กนักเรียน โรงเรียนไม่ว่าเป็นนักเรียนธรรมดา หรือ นักเรียนสามเณร บาลีศึกษา , จุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ก็ถือเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาที่มีแผนการเรียนเหมือนโรงเรียนมัธยมทั่วไป ที่ต้องการพัฒนาทักษะการเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการ และมีครูโรงเรียนส่งเข้าร่วมแข่งขันตรงตามเกณฑ์ที่กำหนด ทั้งนี้ หลังจากมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมของสามเณร ทางวิทยาเขตได้สอบถามไปยังกรมการศาสนาแล้วและได้คำตอบว่า กิจกรรมนี้เป็นการแข่งขันทักษะทางคอมพิวเตอร์ จึงไม่ถือว่าเป็นการแข่งขันที่ผิดวินัยแต่อย่างใด

    ด้านอาจารย์ธนภัทร วงษ์คำจันทร์ ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า ไม่คิดว่าเรื่องนี้จะกลายเป็นประเด็นในสังคม เพราะทางโรงเรียนได้โทรศัพท์มาสอบถามก่อนแล้วว่าจะอนุญาตให้เข้าร่วมการแข่งขันได้หรือไม่ ทางวิทยาเขตได้แจ้งไปว่าถ้าเข้าเกณฑ์ตามที่ได้แจ้งประกาศไว้ในระดับชั้นการศึกษาก็สามารถเข้าร่วมแข่งขันได้ ซึ่งกรณีนี้สามเณรก็เทียบเท่าระดับมัธยมศึกษา และทางโรงเรียนอนุญาตให้มาได้ วิทยาเขตก็ยินดีให้เข้าร่วม โดย ROV มีทีมเข้าร่วมแข่ง 40 ทีม มีสามเณรแข่งด้วยแต่ไม่ได้รางวัล ส่วน Speed Drifter มีสามเณรทีมเดียวเข้าแข่งและได้รางวัลชนะเลิศไป

ที่มา มติชน, เดลินิวส์







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS