รัฐบาลผุดศูนย์สร้างสรรค์ฯ แห่งแรกในอีสาน ที่ขอนแก่น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของคนไทย   


11 มกราคม 59 21:34:41


 
ม.ขอนแก่น จับมือ TCDC ผุดศูนย์สร้างสรรค์ฯ แห่งแรกในอีสาน พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมเป็นประธานในพิธี ณ ห้องประชุมสารสิน มข.
 

วันนี้ (11 มกราคม 2559) เวลา 9.30 น. พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมเป็นประธานในพิธี ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) โครงการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ สาขาขอนแก่น ระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น กับ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบหรือ Thailand Creative & Design Center (TCDC) ณ ห้องประชุมสารสิน อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  
พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี
พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี 
 
พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ได้เผยถึงวิสัยทัศน์และนโยบายของรัฐบาลในการขยายแหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของคนไทย ว่านโยบายของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่12กันยายน 2557ได้กำหนดนโยบายด้านการศึกษาและเรียนรู้ การทะนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ในข้อ 4.1และข้อ 4.4ไว้ว่า การศึกษาไทยจะต้องจัดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ โดยมุ่งเน้นโอกาสการเข้าถึงการเรียนรู้และพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในทุกระดับอย่างมีมาตรฐาน เพื่อให้ตรงกับความต้องการของพื้นที่จากคำแถลงดังกล่าว รัฐบาลจึงได้ผลักดันและขับเคลื่อนให้กลไกต่างๆ เดินหน้าอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานระหว่างภาคการศึกษา และภาคเศรษฐกิจ ให้เกิดการเชื่อมโยงและส่งต่อภารกิจซึ่งกันและกันเพื่อเป้าหมายสูงสุดคือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยทุกระดับอันจะนำไปสู่การพัฒนาความรู้และเศรษฐกิจของประเทศที่มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน
 
“รัฐบาลจึงผลักดันให้เกิดการหลอมรวมการทำงานระหว่าง หน่วยงานภาคการศึกษา ภาคการวิจัย และภาคธุรกิจให้สร้างผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม รวมถึงศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ อันหน่วยงานพัฒนาการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ อันเป็นหน่วยงานผลิตและส่งเสริมงานวิจัย ได้จับมือกันเพื่อขยายความของงานวิจัยไปสู่การสร้างคุณภาพในกระบวนการผลิต พร้อมทั้งยังเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจSMEs ผ่านสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อให้เกิดการยกระดับการผลิตด้วยองค์ความรู้สมัยใหม่แก่ผู้ประกอบการ จนสามารถเกิดความแข็งแกร่งทางธุรกิจได้อย่างแท้จริง” พลอากาศเอก ประจิน กล่าว
 
พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ได้กล่าวต่ออีกว่า โครงการ TCDC สาขาขอนแก่นนี้ จึงเกิดขึ้น เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการขยายโอกาสทางการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์สู่ภูมิภาค ส่งเสริมให้เกิดแหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์ที่เป็นแหล่งพบปะของเยาวชน เป็นแหล่งเชื่อมโยงทางธุรกิจ และเป็นแหล่งแสดงผลงานและเวทีสร้างสรรค์ สำหรับเยาวชน นักเรียนนักศึกษาและผู้ประกอบการท้องถิ่น เพื่อสร้างเมืองที่เกิดขึ้นจากรากฐาน วัฒนธรรม ประเพณีที่เก่าแก่และงดงาม พรั่งพร้อมด้วยแรงงานที่มีทักษะฝีมือ ที่สร้างสินค้าที่หลากหลาย หากเราสามารถต่อยอดด้วยองค์ความรู้ใหม่ๆ เช่น การออกแบบ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การสร้างBranding ย่อมทำให้สินค้าและบริการของภาคอีสาน เดินหน้าสู่การแข่งขันได้อย่างแข็งแกร่ง 
 
ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น
ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น
 
ด้าน ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงทิศทางในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และทุนวัฒนธรรมของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า พื้นฐานสำคัญของภาคอีสาน เป็นแหล่งแรงงานฝีมือและเป็นรากฐานของการพัฒนาต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ในสาขาต่างๆเช่น ภาพยนตร์ โฆษณา รายการบันเทิง เพลงลูกทุ่ง อาหาร แฟชั่น ฯลฯ สถิติของภาคอีสาน มีจำนวนผู้ประกอบการ SMEs มากกว่า 670,000 ราย คิดเป็นร้อยละ 25.7 ของ SMEs ทั้งประเทศ มีจำนวนผู้ประกอบการ OTOP กว่า 16,000 ราย และมีสินค้า OTOP จำนวนกว่า 28,000 รายการ และในด้านการสั่งสมความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาเดิมนั้น มีศูนย์การเรียนรู้ชุมชนภาคอีสานถึง 1,392 แห่ง มีปราชญ์ชาวบ้านในสาขาต่างๆ 79 คนแต่ในการพัฒนาประเทศ เพื่อให้เราสามารถแข่งขันได้ในปัจจุบันและอนาคต จำเป็นต้องใช้ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สามารถพิสูจน์ได้ในเชิงวิทยาศาสตร์ รวมทั้งความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดการสร้างผลผลิตที่มีมาตรฐานที่ยอมรับได้ในระดับสากล เกิดความแตกต่างและคุณค่าพิเศษ สิ่งเหล่านี้ เมื่อผสมผสานกันแล้ว ได้กลายเป็นระบบคิดที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง
 
ดร.ณรงค์ชัย กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้รับการบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 11 และ มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องได้รับการบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาฯฉบับ 12 ที่กำลังจะเกิดขึ้น ความสำคัญของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในประเทศไทย เมื่อเราพิจารณาที่มูลค่าทางเศรษฐกิจ จะพบว่า ในปี 2557 มีมูลค่าสูงถึง 1.6 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 13.18% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งมีมูลค่ารวม 12.14 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์รายสาขาที่มีมูลค่าสูงเป็น 3 อันดับแรก คือ 1) อุตสาหกรรมแฟชั่น คิดเป็นร้อยละ 4.15 ของ GDP 2) อุตสาหกรรมการออกแบบ คิดเป็นร้อยละ 3.03 ของ GDP และ 3) อุตสาหกรรมแพร่ภาพกระจายเสียง คิดเป็นร้อยละ 1.64 ของ GDP 
  
“ดังนั้นหากเราต้องการพัฒนาเครื่องยนต์ใหม่ ที่จะจุดติดพลังทางเศรษฐกิจของประเทศ นั่นคือ ความคิดสร้างสรรค์ เราจำเป็นต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ด้วย ในส่วนนี้ “ความคิดสร้างสรรค์” ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ หากขาดความรู้ เพื่อให้ความคิดและไอเดียใหม่ๆ นั้น ไม่ใช่สิ่งเพ้อฝัน แต่แปรเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า และขายได้จริง มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ TCDC จึงได้ร่วมกันลงทุน และเป็น Partner ร่วมกัน เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา หรือ ระบบสาธารณูปโภค ทางความคิดสร้างสรรค์ให้กับ จังหวัดขอนแก่นและภาคอีสาน และวันนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ไปสู่การเปิดให้บริการแก่ประชาชนในปีหน้า เราหวังว่า นี่จะเป็นโอกาสใหม่ๆ ให้ชาวขอนแก่น ชาวอีสาน ได้ใช้เป็น TCDC ขอนแก่น เป็นทุน หรือ เครื่องมือ ในการสร้างคุณภาพของสินค้า และบริการ และที่สำคัญคือ การต่อยอดความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองและลูกหลานเราในอนาคต” ดร.ณรงค์ชัย กล่าวในที่สุด 
 
ทั้งนี้จังหวัดขอนแก่นมีความเหมาะสมในการจัดตั้งศูนย์ TCDC เพราะรัฐบาลได้เล็งเห็นในศักยภาพ และทำเลที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ในแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก (EWEC) และเป็นจุดเชื่อมต่อเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจในระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง(GMS Economic Corridors) ตลอดจนเป็นพื้นที่ที่จะได้รับการพัฒนาตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย ปี 2558-2565 เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ มีการคมนาคมสะดวกทั้งทางรถยนต์ รถไฟ เครื่องบิน โดยมี 15 เที่ยวบินต่อวัน และมีการวางแผนก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าโดยกลุ่มนักธุรกิจท้องถิ่น เป็นหนึ่งใน 5 เมืองศูนย์กลางการประชุมสัมมนา (MICE City) ของประเทศ เป็นจังหวัดที่มีผู้ประกอบการ SMEs 81,503 ราย ซึ่งถือว่ามากที่สุดในภาคอีสาน เป็นจังหวัดที่มีจำนวนผู้ผลิตและจำนวนสินค้า OTOP มากที่สุดในภาคอีสาน คือ ผู้ผลิต 1,441 ราย จำนวนสินค้า 2,788 รายการ ขณะเดียวกัน ในด้านการศึกษา พบว่า ด้านการศึกษาด้านการออกแบบและสาขาด้านความคิดสร้างสรรค์ มีสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนด้านการออกแบบ ศิลปะ และสาขาที่เกี่ยวข้องจำนวนทั้งสิ้น 9 สถาบัน 46 คณะ และประมาณการณ์จำนวนนักศึกษากว่า 26,000 คน จากความพร้อมของจังหวัดขอนแก่น และการได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นอย่างดียิ่ง TCDC สาขาขอนแก่น จึงเกิดขึ้นได้ในวันนี้ และเป็นโครงการตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษา และส่วนภูมิภาค ซึ่งในอนาคต ความร่วมมือระหว่างกันนี้ จะไม่ใช่เพียงโครงการจัดตั้งอาคารให้มีความสมบูรณ์แต่รูปลักษณ์ภายนอก แต่หมายถึงความร่วมมือระหว่างการพัฒนาเนื้อหาองค์ความรู้ อันจะเป็น เครื่องมือสำคัญ ที่จะขับเคลื่อนให้เยาวชนของชาติ และผู้ประกอบการ เป็นการยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน
 
สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ระบุเนื้อหาในความสำคัญ ว่าสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) โดย นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ และผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ผู้รับมอบอำนาจจากผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ 622 อาคารเอ็มโพเรียมทาวเวอร์ ชั้น 24 ถนนสุขุมวิท 24 แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร กับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ 123 หมู่ 16 ถนนมิตรภาพ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ สาขาขอนแก่น โดยมีรายละเอียดขอบเขตความร่วมมือดังต่อไปนี้ 
 
สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ตกลงมอบหมายให้ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายในของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ให้ความร่วมมือ กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อพัฒนาพื้นที่บริเวณมหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบที่ครบวงจรในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร่วมกับมหาวิทยาลัยในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ ของผู้ประกอบการ นักออกแบบ และนักศึกษา รวมทั้งกลุ่มผู้สนใจในการประยุกต์ใช้ความคิดสร้างสรรค์อันนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพทางเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ร่วมกับมหาวิทยาลัยในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สู่การนำมาประยุกต์ใช้ในการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ตลอดจนร่วมกับมหาวิทยาลัยในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทั้งเยาวชน ผู้ประกอบการSMEs และแรงงานทักษะ ให้สามารถใช้ความรู้และภูมิปัญญาชุมชน ผสานเข้ากับ “องค์ความรู้ใหม่” เพื่อสร้างสินค้าและบริการที่สามารถแข่งขันได้ และ/หรือการนำองค์ความรู้ไปใช้ในการแก้ไขและพัฒนาคุณภาพชีวิตในพื้นที่ โดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ สาขาขอนแก่น มีกำหนดแล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้ใช้บริการในปี 2560




ชมคลิป

#







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS