มข.ผนึก5คณะวิจัยสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.)   


13 กรกฎาคม 62 16:45:43

    12 ก.ค.  เมื่อเวลา 11.30 น. ที่องค์การเภสัชกรรม นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) พร้อมด้วย รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาทางการแพทย์

    การลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ครั้งนี้ เพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ที่เป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีในรูปแบบยาเตรียมที่ทันสมัย ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายที่ใช้งานง่าย มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับโรคต่างๆ มากขึ้น เช่น ยาเหน็บทวารหนัก แผ่นแปะซึมผ่านผิวหนัง และแผ่นฟิล์มเกาะติดเนื้อเยื่อในช่องปาก รวมถึงวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีเภสัชกรรม ศึกษาความคงสภาพ ศึกษาพรีคลินิกและศึกษาคลินิกที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ตลอดจนการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นได้ใช้ผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ที่มีคุณภาพมาตรฐานเมดิคัลเกรด


    นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ขณะนี้การดำเนินการปลูกและสกัดสารสกัดกัญชา อภ.ได้มีการเก็บดอกกัญชาและทำให้แห้งเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการสกัดเป็นสารสกัดน้ำมันกัญชาเมดิคัลเกรด ซึ่งล่าสุดองค์การฯ ได้กำหนดความเข้มข้นน้ำมันกัญชาชนิดหยดใต้ลิ้น ของแต่ละสูตร เพื่อให้มีความเหมาะสมกับการรักษาโรคชนิดต่างๆ อีกทั้งได้ใช้เทคโนโลยีการสกัดที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้สามารถผลิตน้ำมันกัญชาชนิดหยดใต้ลิ้นเพิ่มขึ้นจาก ประมาณ 2,500 ขวด เป็นประมาณ 10,000 ขวด โดยส่วนที่เพิ่มขึ้นเป็นในส่วนของสูตร THC สูง

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมนพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม

    ในปลายเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมนี้ จะเริ่มทยอยกระจายผ่านกรมการแพทย์ สู่โรงพยาบาลที่เปิดให้บริการใช้สารสกัดกัญชารักษาผู้ป่วย ในรูปแบบการวิจัยแบบเฉพาะรายผ่านช่องทางพิเศษ หรือ SAS และการรักษาผู้ป่วยแบบวิจัยเชิงลึกครบทุกกระบวนการวิจัย รวมถึงการรักษาในรูปแบบอื่นกับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้สารสกัดกัญชาตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ โดยแพทย์ผู้รักษาและเภสัชกรผู้สั่งจ่ายยา และโรงพยาบาลที่ได้รับการอนุญาตจาก อย.

    “ขอย้ำว่าการนำสารสกัดกัญชามาใช้ทางการแพทย์นั้นจะไม่ใช่ทางเลือกแรกในการรักษา และใช้เมื่อรักษาด้วยวิธีมาตรฐานไม่ได้ผลแล้วเท่านั้น โดยสารสกัดน้ำมันกัญชาชนิดหยดใต้ลิ้น องค์การฯทำการผลิต เป็น 3 สูตร คือ สูตรที่ 1 คือ THC สูงกว่า CBD สูตรที่ 2 คือ CBD สูงกว่า THC และสูตรที่ 3 คือ สัดส่วน THC และ CBD 1 ต่อ 1 ผลิตโดยยึดหลักต้องปลอดภัย(Safety) ทุกขวดที่สกัดออกมาต้องมีสารมีฤทธิ์ของยาที่ใกล้เคียงกันหมด(Consistency) และ ต้องมีประสิทธิภาพ (Efficacy) โดยหลังจากทำการเก็บเกี่ยวดอกกัญชา 140 ต้น ล็อตแรกหมดแล้ว องค์การฯจะทำความสะอาดพื้นที่เพื่อทำการปลูกในล็อตที่ 2 ต่อไปทันที โดยคาดว่าจะได้สารสกัดกัญชาล็อตที่ 2 ประมาณ ปลายปีนี้”

    นพ.วิฑูรย์ กล่าวต่อว่า ส่วนการดำเนินการในระยะที่ 2 เป็นการดำเนินการในระดับกึ่งอุตสาหกรรม จะขยายพื้นที่ปลูกเป็นแบบ Indoor และแบบ Greenhouse พร้อมดำเนินการปรับปรุงสายพันธุ์ทั้งพันธุ์ไทยและพันธ์ลูกผสม ให้ได้สารสำคัญที่เหมาะสม และสามารถปลูกในสภาพอากาศของไทยได้ ซึ่งจะสามารถเพิ่มผลผลิตเป็น 150,000 – 200,000 ขวด คาดว่าจะสามารถดำเนินการปลูกได้ในต้นปี 2563

    ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นในครั้งนี้ จะเป็นการดำเนินการเพื่อวิจัยและพัฒนา ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชารูปแบบต่างๆนอกเหนือจากชนิดหยดใต้ลิ้น ให้มีความหลากหลาย ใช้งานง่าย มีประสิทธิภาพการรักษาและเหมาะสมกับโรคต่างๆ ยิ่งขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีเภสัชกรรม ทั้งนี้จะมีการศึกษาความคงสภาพ การศึกษาพรีคลินิก และการศึกษาคลินิก กับผู้ป่วยกลุ่มโรคต่างๆ ที่องค์การเภสัชกรรมได้ร่วมมือวิจัยในผู้ป่วยกับกรมการแพทย์ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ตลอดจนการบริหารจัดการนำวัตถุดิบส่วนที่เหลือจากกระบวนการผลิตทในส่วนของต้นกัญชาที่ได้จากการสกัดนำไปใช้เกิดประโยชน์สูงสุดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมการศึกษาวิจัยในโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อมูลพียงพอสำหรับการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ และการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ ต่อไป

    นอกจากนั้นยังจะมีการการบริหารทางวิชาการ และการพัฒนาบุคลากรในสาขาที่เกี่ยวข้องร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการผนึกกำลังกันของทั้ง 2 หน่วยงาน ซึ่งต่างก็มีจุดมุ่งหวังเดียวกันที่จะทำให้ประชาชนได้ใช้ผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาเมดิคัลเกรดที่ดีมีคุณภาพ ราคาที่เข้าถึงได้

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นรศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น

    รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รักษาการอธิการบดี มข. กล่าวว่า ม.ขอนแก่นมีการติดตามข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับกัญชามาสักระยะแล้วราว 4-5 ปี สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ม.ขอนแก่น ก็มีความพร้อม เพราะมีคณะที่เกี่ยวข้องที่จะมาร่วมมือในการดำเนินงานถึง 5 คณะ ทั้งคณะเกษตรศาสตร์ ที่จะเข้ามาดูเรื่องของการปลูกและพัฒนาสายพันธุ์ คณะเภสัชศาสตร์ ในการพัฒนาสารสกัดกัญชารูปแบบใหม่ๆ คณะวิทยาศาสตร์ ที่จะช่วยสกัดและวิจัยสารสำคัญของกัญชาที่นอกเหนือไปจากสารทีเอชซีและซีบีดี คณะแพทยศาสตร์ ในการวิจัยผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาในมนุษย์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ ในการนำกากช่อดอกที่เหลือจากการสกัด หรือที่เรียกว่าซีโรเบส มาพัฒนาเป็นอาหารสัตว

ศ.ภญ.บังอร ศรีพานิชกุลชัย คณะเภสัชศาสตร์ มข.ศ.ภญ.บังอร ศรีพานิชกุลชัย คณะเภสัชศาสตร์ มข.


    ด้าน ศ.ภญ.บังอร ศรีพานิชกุลชัย คณะเภสัชศาสตร์ มข. และคณะกรรมการขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ม.ขอนแก่น กล่าวว่า การพัฒนาสารสกัดกัญชารูปแบบใหม่ๆ ที่แตกต่างจากปัจจุบันนั้น จะมีการทำในรูปแบบของยาเหน็บทวารหนัก แผ่นแปะซึมผ่านผิวหนัง และแผ่นฟิล์มเกาะติดเนื้อเยื่อในช่องปาก ซึ่งรูปแบบของยาเหล่านี้ทางคณะเภสัชศาสตร์ ม.ขอนแก่น มีการพัฒนาจากสมุนไพรตัวอื่นอยู่แล้ว เพียงแค่รอสารสกัดกัญชาจากทาง อภ. ก็จะนำมามาใส่ในผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะมีการกำหนดขนาดและปริมาณให้เหมาะสมกับโรค สำหรับยาเหน็บทางทวารหนัก เมื่อสวนเข้าไปจะเกิดการแข็งตัวและปลดปล่อยตัวยาออกมา ทำให้ไม่เลอะเทอะ ตัวยาไม่ผ่านกระบวนการย่อยที่ตับ ดังนั้น จึงได้ยาแบบเต็มๆ กำหนดขนาดที่จะใช้ได้ ช่วยลดผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่นเดียวกับแผ่นฟิล์มเกาะติดเนื้อเยื่อในช่องปาก ที่จะลดความเสี่ยงจากการใช้แบบหยดใต้ลิ้นที่บางครั้งไม่รู้ขนาดและจำนวนที่หยดลงไป

    ศ.ภญ.บังอร กล่าวว่า หลังพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ เหล่านี้เสร็จแล้ว จะมีการนำไปทดลองทางคลินิกร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น โดยคาดว่า 1 ปีน่าจะได้ผลิตภัณฑ์ออกมา สำหรับการนำสารสกัดกัญชาของ อภ.ที่ได้จากของกลาง ป.ป.ส. มาวิจัยในสัตว์ทดลองนั้น ก็จะมีการดูเรื่องของฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา เช่น ผลทางสมองของอัลไซเมอร์ และเซลล์เพาะเลี้ยงมะเร็งท่อน้ำดี

   ศ.มนต์ชัย ดวงจินดา คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ม.ขอนแก่น กล่าวว่า การปลูกกัญชาจะปลูกทั้งระบบโรงเรือน กรีนเฮาส์ ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ มีพื้นที่เกือบ 2 ไร่ในการปลูกแบบเอาท์ดอร์ ซึ่งจะมีระบบรั่วและระบบรักษาความปลอดภัย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุญาครอบครองและปลูก นอกจากนี้ จะมีการพัฒนาสายพันธุ์ไทยและสายพันธุ์ลูกผสมเพื่อให้ได้สารสำคัญตามที่ต้องการ เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ด้วย

 







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS