เกษตรกรขอนแก่น-อีสาน ขอฝนหลวง   


12 กรกฎาคม 62 18:01:45

เกษตรกรขอฝนหลวงแม้เข้าสู่หน้าฝนอีสานบนกลับประสบภัยแล้ง เขื่อนอุบลรัตน์น้ำใช้การได้หมดเกลี้ยง ต้องใช้น้ำก้นอ่างวันละ 0.50 ลบ.ม.ไว้เป็นน้ำกิน/น้ำใช้ น้ำเพื่อการเกษตรต้องรอฝนอย่างเดียว

    เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 11 ก.ค. นางสาววาสนา วงษ์รัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า ในช่วงนี้เกษตรกรได้ร้องขอการทำฝนหลวงในพื้นที่ จ. เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ และ จ.มหาสารคาม โดยยื่นหนังสือขอฝนหลวงในพื้นที่ดังกล่าว เพราะฝนไม่เคยตก ทำให้ต้นข้าวได้รับความเสียหาย  เมื่อเข้าช่วงมิถุนายนเป็นต้นมาก็มีฝนทิ้งช่วงเกิดขึ้น โดยเฉพาะกลางมิถุนายนเป็นต้นมาจนถึงกลางกรกฏาคม ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่มิถุนายนก็เป็นช่วงที่ฝนลดน้อยลง


    ทางศูนย์ก็มีข้อมูลว่าพื้นที่ตรงไหนมีฝนน้อยและมีการร้องขอมาก ก็พยายามทำงานช่วยเหลือพื้นที่ตรงนั้น อุปสรรคสำคัญสำหรับการทำงานของฤดูฝนทิ้งช่วงก็คือ เป็นช่วงที่ลักษณะลมไม่เอื้อ ไม่ใช่เป็นลักษณะลมฝน อาจจะเป็นลมทิศตะวันตก หรือมีเป็นลมตะวันตกเฉียงเหนือบ้าง ซึ่งลมนี้ไม่ได้เป็นลมที่มีความชื้น เพราะฉะนั้นช่วงเวลาเหล่านี้ฝนก็จะลดน้อยลง  บางวันอาจจะลมแรง เมื่อลมแรงเมฆก็ไม่สามารถก่อยอดได้ ลมตัดยอดไปดังนั้นจึงทำให้เมฆฝนไม่พัฒนาต่อได้  เมื่อไม่พัฒนาต่อฝนก็ตกน้อยลง ซึ่งหลายคนอาจเข้าใจว่าเมฆบนท้องฟ้าทุกก้อนคือเมฆฝนสามารถโปรยสารฝนหลวงแล้วเป็นฝนได้หมด ที่จริงไม่ใช่ 

     "ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือพยายามที่จะทำยังไงให้เมฆมันก่อตัวให้ได้ และหลังจากเมฆก่อตัวได้แล้ว  ก็ต้องทำทุกรูปแบบให้เมฆพัฒนาขึ้นไปเป็นเมฆฝน โดยทางศูนย์ฯพยายามทำการบินทุกวันไม่มีวันหยุด วันไหนที่สภาพอากาศเอื้ออำนวย ก็ทำการบิน 3-4 เที่ยวต่อวัน โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางและตอนล่างเกือบจะทุกจังหวัด มีพื้นที่นาข้าวกว้างใหญ่โดยเฉพาะทุ่งกุลาร้องไห้จ.ร้อยเอ็ด มหาสารคาม บุรีรัมย์  สุรินทร์  และ จ.ศรีสะเกษ เกิดฝนตกในปริมาณที่น้อยไม่มากพอ และยังไม่มีน้ำขังในทุ่งนา  ทางศูนย์ฯก็จะเลือกพื้นที่ที่มีปัญหามาก ๆ เพื่อวางแผนทำฝนหลวงช่วยเหลือในช่วงนี้ทุกวัน" นางสาววาสนา วงษ์รัตน์ กล่าว
 
   ในส่วน นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 (ขอนแก่น) กล่าวว่า สถานการณ์น้ำช่วงฤดูฝนตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2562 เป็นต้นมา พบว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลาง อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ปัจจุบันเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น มีปริมาณน้ำ 583.19 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 23.99 ของความจุอ่าง น้ำใช้การได้ 1.52 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 0.08 ของความจุอ่าง เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำ 568.90 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 28.73 ของความจุอ่าง น้ำใช้การได้ 468.90 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 23.68 ของความจุอ่าง เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ มีปริมาณน้ำ 49.88 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 30.46 ของความจุอ่าง น้ำใช้การได้ 12.66 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 10 ของความจุอ่าง  

     เมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานชลประทานที่ 6 , 7 และ 8 พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมวางแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนตามมาตรการของกรมชลประทาน โดยการติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำมีเพียงพอสำหรับการใช้น้ำตลอดฤดูฝนปีนี้ และเก็บกักไว้ใช้ในฤดูแล้งที่จะถึงในปี 2563  ซึ่งได้พิจารณาให้ความสำคัญจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค เป็นอันดับแรก ส่วนจะใช้น้ำชลประทานเพื่อการเกษตรกรณีที่ฝนทิ้งช่วงเขื่อนในความรับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 6,7 และ 8 ไม่มีปริมาณน้ำเพียงพอสนับสนุนการเกษตร
 
    "อย่างไรก็ตาม สำนักงานชลประทาน 6,7,และ 8  ได้มีแผนในการเตรียมความพร้อมวางมาตรการให้ความช่วยเหลือ โดยสั่งการให้เจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด บูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วน รวมถึงเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และรถบรรทุกน้ำ พร้อมให้การสนับสนุนโดยทันทีด้วย จึงขอให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้มีปริมาณสำรองไว้ใช้ให้มากที่สุด" นายศักดิ์ศิริ กล่าว
    
    ด้าน นายทรงวุฒิ กิจวรวุฒิ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า   ผลการประชุมคณะกรรมการจัดการน้ำชลประทาน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย เพื่อกำหนดวันเริ่มส่งน้ำและวางแผนการส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูฝน ปี 2562 ในวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้สรุปสภาพอากาศ และ การคาดหมายปริมาณน้ำฝน ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศแจ้งเตือน รวมถึงปริมาณน้ำต้นทุนจากเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งปัจจุบันมีความจุ 581.67 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 23.92 และปริมาณน้ำใช้การไม่มี  เมื่อเขื่อนอุบลรัตน์ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ไม่มีปริมาณน้ำใช้การได้ในการเกษตร  จำเป็นต้องใช้น้ำที่ต่ำกว่าปริมาณน้ำเก็บกักต่ำสุด (Dead storage)  โดยมีการระบายน้ำวันละ 0.50 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศน์  หากปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนเพิ่มขึ้น และปริมาณน้ำมากกว่าปริมาณน้ำเก็บกักต่ำสุด (Dead storage) จะพิจารณาเพิ่มการระบายน้ำสนับสนุนเกษตรกรเพื่อการเพาะปลูก ต่อไป.

ติ๊ก  บังอร  ขอนแก่น  /  รายงาน







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS