ถอดบทเรียน PLC รร.พิศาลปุณณวิทยา จ.ขอนแก่น สู่โมเดลต้นแบบแห่งการเรียนรู้แนวใหม่   


17 พฤษภาคม 62 19:52:36

ขอนแก่น-เชฟรอน เอ็นจอย ไซเอนซ์ ชู “เครือข่ายพัฒนาวิชาชีพครูโรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา” เป็นต้นแบบการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้แนวใหม่เพื่อความยั่งยืน สอดรับนโยบาย ก.ศึกษาฯ เตรียมขยายผลนำไปใช้กับโรงเรียนอื่น มุ่งสู่เป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

     “ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของ จ.ขอนแก่น ที่หลายฝ่ายเกี่ยวข้องหยิบยกขึ้นมาหาทางออกร่วมกันในหลายวาระ เนื่องด้วยสภาพพื้นที่ที่มีความกว้างใหญ่ประกอบด้วย 26 อำเภอ 198 ตำบล มีสถานศึกษาทุกระดับชั้นรวมกันเกือบ 1,500 แห่ง ทำให้โรงเรียน สถานศึกษาที่มีความพร้อมมักกระจุกอยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองและอำเภอใหญ่ๆ ขณะที่โรงเรียนขยายโอกาส และโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดความพร้อมทั้งด้านบุคลากร สื่อ วัสดุ อุปกรณ์ครุภัณฑ์ที่จำเป็นในการเรียนการสอน จะกระจายตัวอยู่เป็นจำนวนมากในพื้นที่ชายขอบห่างไกล ประกอบกับปัจจัยแวดล้อมของเด็กแต่ละคน ส่งผลให้มีปัญหาทางการศึกษาที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ซึ่งยังพบอยู่ในกลุ่มเด็กระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้นอยู่เสมอ

     ด้วยเหตุนี้ โครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ที่มีจุดประสงค์สำคัญ คือ “ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ด้วยการพัฒนาศักยภาพคน โดยเฉพาะกลุ่ม “ครู” แม่พิมพ์สำคัญ จึงนำกระบวนการขับเคลื่อนชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ PLC (Professional Learning Community) ที่สอดรับแนวนโยบายกระทรวงศึกษาธิการเข้ามาปรับใช้กับ “ครู” ในขอนแก่น

     ซึ่งภายหลังโครงการฯ ดำเนินงานต่อเนื่องกว่า 4 ปี พบว่า Best Practice ด้าน PLC ที่ประสบความสำเร็จและเหมาะเป็นต้นแบบ ในพื้นที่อื่นๆ คือ กระบวนการ PLC ซึ่งเกิดขึ้นที่ “โรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา”  จ.ขอนแก่น  อันเป็น PLC รูปแบบใหม่ เรียกว่า School Improvement Network ซึ่งมีสำนักการศึกษาฯ องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่นต้นสังกัดในพื้นที่เป็นแกนหลักขับเคลื่อนการพัฒนาชั้นเรียนและโรงเรียนแบบครบวงจรทั้งระบบ ร่วมกับ ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูผู้นำ และพี่เลี้ยงวิชาการในเครือข่าย

     ในโอกาสนี้เราจะพาท่านไปสัมผัสมุมมองและประสบการณ์ของคณะทำงาน PLC โรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา Best Practice ของโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต

คณะทำงาน PLC โรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา จ.ขอนแก่น Best Patrice โครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคตคณะทำงาน PLC โรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา จ.ขอนแก่น Best Practice โครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต

     นายวินัย รุมฉิมพลี ผู้อำนวยการโรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา กล่าวยืนยันถึง กระบวนการเรียนการสอนแบบ PLC เป็นเรื่องดีมาก หลังจากเข้าร่วมโครงการฯ แล้ว เห็นพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กชัดเจนขึ้น  โดยโรงเรียนตั้งเป้าจะดำเนินการต่อคุณครูทุกคนต่างเห็นข้อดี มีการวางแผนร่วมกันจะขยายไปทุกกลุ่มวิชา ขณะเดียวกันก็จะเข้าไปช่วยในส่วนของโรงเรียนเครือข่ายที่อยู่ในสังกัด อบจ. ด้วยกัน เบื้องต้นจะขยายไปยังโรงเรียนขนาดใหญ่ ตามด้วยโรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็ก

     ปัจจุบันโรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา มีการปรับใช้กระบวนการนี้ในแทบทุกห้องของชั้น ม.1 ซึ่งมี 3 ห้อง  บางห้องอาจจะไม่ได้ใช้ครบทุกกระบวนการ แต่นำรูปแบบการสอนแบบ PLC ไปปรับใช้ในการสอน นั่นหมายความว่า ณ วันนี้ ครูจะไม่กลับไปใช้การสอนแบบเดิม เพราะได้ถอดบทเรียนแล้วว่าวิธีการสอนแบบ PLC ช่วยให้เด็กเรียนรู้และเข้าใจบทเรียนได้ง่ายมากขึ้น มีพัฒนาการเป็นที่น่าพอใจ

     สิ่งที่เรามองเห็นจากการทำ PLC คือ พัฒนาการของเด็กเรา จากเด็กที่ไม่พูดไม่แสดงออก ก็มองว่าเด็กไม่พูดเพราะอะไร เด็กไม่พูดเพราะว่าเด็กอ่านไม่คล่อง หรือ เด็กตีโจทย์ภาษาไทยไม่ได้ เด็กตีโจทย์คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ไม่ได้ ก็มาแก้ปัญหา ก็มาดูว่าทำไมเด็กเราอ่านไม่คล่อง ต้นทุนเรามาต่ำ เราก็ได้ไปเชิญผู้เชี่ยวชาญมาวิเคราะห์ และเป็นอาสาสมัครมาสอนเด็กเราจนนำสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในทางที่ดีขึ้น

     กระบวนการ PLC กรณีดังกล่าว เราจะมีครูภาษาไทยร่วมด้วย เป็นการบูรณาการระหว่างกลุ่มสาระ ทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมถึงการสื่อสารบางอย่างเช่น การพูดหน้าห้องเรียนที่เด็กต้องมานำเสนอความคิดเห็น ครูภาษาไทยก็จะมีเทคนิคที่ทำให้เด็กกล้าพูดกล้าแสดงออกมากกว่าครูคณิตศาสตร์ เป็นเทคนิคที่มาเสริมกัน ฉะนั้น PLC ก็คือ เราได้วิเคราะห์ทุกด้าน

โรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา จ.ขอนแก่น
โรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา จ.ขอนแก่น 

     คุณครูชมพูนุท โนนทนวงษ์ คุณครูผู้สอนคณิตศาสตร์ โรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา เล่าว่า จากประสบการณ์พบว่าปัญหาของเด็กคือไม่ค่อยกล้าแสดงออก เพราะเขารู้สึกว่า เมื่อเขาเขียนอะไรเขาจะผิด จะรู้สึกตลอดว่าไม่กล้าคิดไม่กล้าเขียน แต่ถ้าเราปรับวิธีการให้เขาได้มีส่วนร่วมได้มีการเป็นผู้นำบ้าง มีความรู้สึกว่าในชั้นเรียนเป็นห้องเรียนของเขา เขาก็จะกล้าที่จะพูดกล้าที่จะแสดงออกมากขึ้น 

     “ในห้องเรียน PLC จากเด็กที่ไม่กล้าเขียนเลยใช้ดินสอจางๆ เขาก็จะเริ่มเขียน เขาอาจจะเขียนไม่ถูก แต่เริ่มที่จะลงมือเขียน กระบวนการก็จะค่อยๆ หลอมเขา จากการเขียนก็จะเริ่มการพูดเพราะกระบวนการไม่ใช่เพียงแค่เราจะนำเฉพาะเด็กที่เก่งอย่างเดียวมาเป็นผู้นำแต่ในบางคาบเราจะให้เด็กที่อ่อนสุดเป็นผู้นำด้วย พอรู้สึกว่าเขาทำได้มันก็จะเกิดการเรียนรู้มากขึ้นและกล้าที่จะพูดกล้าที่จะทำมากกว่าเดิม” คุณครูชมพูนุทกล่าวและบอกอีกว่า

     PLC มันคือการพัฒนาต่อยอดของคุณครูไปโฟกัสที่ผู้เรียนรายบุคคล PLC ของเราไม่ใช่แค่พัฒนา  ทั้งห้องเรียน เราจะเลือกพัฒนาผู้เรียนรายบุคคลด้วย สิ่งสำคัญคือ ทุกคนมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการของกิจกรรมนั้น ทางโรงเรียนได้เริ่มใช้ PLC กับห้องเรียนที่ไม่ใช่ห้องเก่ง แต่เป็นห้องที่มีความหลากหลาย  มีทั้งเด็กเรียนเก่ง เรียนปานกลางและนักเรียนที่เรียนช้า

     ดังนั้นในกระบวนการนี้จะกระตุ้นให้นักเรียนกล้าที่จะแสดงออก กล้าพูด กล้าเขียน ซึ่งดูเหมือนเป็นประเด็นเล็กแต่เป็นการทำให้เด็กมีพัฒนาการ เด็กอาจจะไปแข่งกับห้องที่เก่งไม่ได้ แต่มีพัฒนาการและส่งผลในอนาคต ครูผู้สอนมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนานักเรียนแต่ละกลุ่มแต่ละคนและเดินไปตามแผนที่วางไว้  กระบวนการพัฒนาก็จะขับเคลื่อนไปตามขั้นตามตอน

     ขณะที่คุณครูปวีณา โพธิ์ศรี ครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์เช่นกัน บอกว่า ทางโรงเรียนเราโชคดีที่ทางโครงการ Chevron Enjoy Science แนะนำกิจกรรมที่ใช้ในการเปิดใจเปิดความกล้าให้กับนักเรียน ม.1 ได้นำเครื่องมือที่เรียกว่า “คานิยามะ”  ซึ่งเป็นแบบฝึกคณิตศาสตร์นำมาใช้ที่โรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา เป็นที่แรก เป็นเกมเพื่อดึงเด็กเข้ามา โดยจะเริ่มจากง่ายไปยาก พอเริ่มให้เด็กทำเมื่อเขาทำได้ก็จะมีความท้าทายและอยากที่จะทำ กล้าเปิดใจถามคุณครูว่าทำยังไงต่อไป

ดร.วรรณภา สมตา ศึกษานิเทศก์ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ขอนแก่น
ดร.วรรณภา สมตา ศึกษานิเทศก์ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ขอนแก่น 

     ด้าน ดร.วรรณภา สมตา ศึกษานิเทศก์ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ขอนแก่น กล่าวเพิ่มเติมว่า ภารกิจตามโครงการดังกล่าวหน่วยศึกษานิเทศก์จะทำหน้าที่ดูแลการขับเคลื่อนงานวิชาการของโรงเรียน ซึ่งเป็นบทบาทที่ทำอยู่แล้ว  เมื่อโครงการ Chevron Enjoy Science เข้ามาทำการพัฒนาโรงเรียนต้นแบบคุณภาพวิชาการ โดยเลือก โรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา เป็น 1 โรงเรียนในโครงการฯ ในฐานะศึกษานิเทศก์ก็เข้ามาทำงานร่วมกับ ท่านผู้บริหารและคุณครูโรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา ตั้งแต่ต้นจนถึงปลายทางของการทำ PLC

     คำว่าต้นทางก็คือตั้งแต่โรงเรียนกำหนดแผนงาน ตัวศึกษานิเทศก์จะสื่อสารตั้งแต่ข้างบนต้นสังกัดคือ อบจ.ขอนแก่น แล้วก็โรงเรียนเชื่อมประสานกัน และย่อยลงมาเป็นสำนักการศึกษา ต่อมาจึงเป็นหน่วยศึกษานิเทศก์ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษา โดยบทบาทของหน่วยศึกษานิเทศก์ คือการแนะนำช่วยเหลือ ไม่ใช่ประเมินอย่างเดียว ซึ่งการแนะนำช่วยเหลือก็คือ การเข้าไปร่วมทำงานพร้อมกับคุณครูแล้วก็ร่วมพัฒนาไปพร้อมกับคุณครู

     ดร.วรรณภา กล่าวย้ำว่า การทำ PLC ความยากไม่ได้อยู่ที่ประเด็นความร่วมมือของผู้บริหารหรือครู แต่ยากตรงที่จะทำอย่างไรให้มันเกิดขึ้นและเห็นผลได้จริง และ หัวใจของ PLC คือ การ Sharing แต่ก่อนที่จะแชร์ได้ ก็ต้องเริ่มที่เปิดใจก่อนด้วย เพราะว่าปัจจัยเริ่มต้นคือต้องเปิดใจก่อน เมื่อเปิดใจแล้วการแชร์ จึงจะเกิดประโยชน์ ยกตัวอย่างครูที่โรงเรียนพิศาลปุณณวิทยาก็คือ ท่านผู้บริหารได้เปิดใจและเมื่อตั้งเป้าหมายร่วมกันแล้วว่าจะทำโครงการนี้ ทุกคนก็เปิดใจที่จะเรียนรู้พัฒนาไปพร้อมๆ กัน จนทำให้บรรลุเป้าหมายตามกระบวนการทำ PLC ที่ทางโครงการ Chevron Enjoy Science เข้ามาสนับสนุน

 







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS