แพทย์มข.วิจัยอาหารบำบัด "น้ำมะม่วงหิมพานต์" สำเร็จ! มีประโยชน์ต่อสมองและกล้ามเนื้อ (มีคลิป)   


13 มีนาคม 62 14:32:11

ม.ขอนแก่น โชว์ผลงานวิจัย "น้ำมะม่วงหิมพานต์" ครั้งแรกในไทย ที่มีประโยชน์ต่อสมองและกล้ามเนื้อเหมาะสำหรับผู้สูงอายุ   เล็งต่อยอดสู่กลุ่มธุรกิจอาหารบำบัด หรือแพทย์ทางเลือก 

รศ.ดร.จินตนาภรณ์ วัฒนธร รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพัฒนาศักยภาพมนุษย์และการสร้างเสริมสุขภาพ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. เปิดเผยว่า ผลงานวิจัย "น้ำผลมะม่วงหิมพานต์"  มีที่มาจากแรงบันดาลใจโดยส่วนตัวที่ชื่นชอบอาหารบำบัด หรือในเรื่องของแพทย์ทางเลือก จึงทำการคิดค้นในกลุ่มผักและผลไม้ ที่มีโอกาสที่จะเอามาใช้ประโยชน์ในเรื่องของอาหารบำบัดได้ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ผักและผลไม้ของไทยนั้นเป็นเหมือนสมุนไพร แต่ละชนิดมีสารที่มีประโยชน์อยู่เยอะมาก จนกระทั่งได้ดื่มน้ำมะม่วงหิมพานต์ ซึ่งก็รู้สึกแปลก เพราะไม่ใช่เครื่องดื่มที่น่าสนใจ จึงมาทำการค้นคว้าหาข้อมูล จนพบว่ามะม่วงหิมพานต์นั้นสรรพคุณในการบำรุงกำลัง และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ขณะเดียวกันมะม่วงหิมพานต์เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่สำคัญของประเทศไทย จึงมีความมุ่งมั่นตั้งใจ ในการที่จะพัฒนาต่อยอดเครื่องดื่มมะม่วงหิมพานต์ ให้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ ที่ดึงเอาคุณประโยชน์ของมะม่วงหิมพานต์มาใช้ประโยชน์ได้อย่างครบถ้วน  โดยเริ่มตั้งแต่ภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม และที่สำคัญคือเป็นการวิจัยที่พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ ที่เน้นหลักวิชาการตั้งแต่กระบวนการวิจัยจนกระทั่งถึงผู้บริโภค  

รศ.ดร.จินตนาภรณ์ วัฒนธร รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพัฒนาศักยภาพมนุษย์และการสร้างเสริมสุขภาพ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นรศ.ดร.จินตนาภรณ์ วัฒนธร รก.ผอ.สถาบันวิจัยพัฒนาศักยภาพมนุษย์และการสร้างเสริมสุขภาพ 

“ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันสังคมไทยเข้าสู่ช่วงสังคมผู้สูงอายุ และน้ำผลมะม่วงหิมพานต์ มีประโยชน์ต่อกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มักจะพบปัญหาเรื่องสมองกับกล้ามเนื้อ  ที่ผ่านมาทีมนักวิจัยได้ใช้ระยะเวลาประมาณ5 ปี ทำการวิจัยเฉพาะมะม่วงหิมพานต์จนพบว่าในน้ำมะม่วงหิมพานต์มีสารพฤกษเคมีที่เป็นประโยชน์มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและเพิ่มสารสื่อประสาทที่สำคัญหลายอย่างมะม่วงหิมพานต์ไม่เพียงถูกนำมาใช้เป็นอาหารแต่ในประเทศแถบลาตินอเมริกามีการนำมาใช้เป็นยาด้วย เช่น บำรุงกำลัง รักษาแผล  ดังนั้นทีมงานนักวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ จึงเดินหน้าทำการวิจัยน้ำผลมะม่วงหิมพานต์ ให้เป็นอาหารสร้างเสริมสุขภาพที่ไม่ใช่แค่เพียงเครื่องดื่มธรรมดา โดยผลงานวิจัยดังกล่าวนี้เน้นไปในกลุ่มของผู้สูงอายุที่พบว่ามีการเสื่อมของระบบต่างๆรวมทั้งมีการตายของเซลล์ประสาทในสมองและมีสลายของกล้ามเนื้อทำให้นอกจากจะหลงๆลืมยังหกล้มง่าย  เราจึงทำการทดสอบเกี่ยวข้องกับสมองก่อนเป็นอันดับแรก และมะม่วงหิมพานต์ก็สามารถทำให้สื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบของประสาทโดยเฉพาะระบบการเรียนรู้และความจำมันทำงานได้ดี และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระดีด้วย”

รศ.ดร.จินตนาภรณ์ กล่าวต่ออีกว่า จากการวิจัยยังคงพบอีกว่าในกลุ่มผู้สูงอายุมีอนุมูลอิสระที่เยอะมากและการทำงานของระบบต่างๆ ก็เสื่อมลงด้วยและที่สำคัญผลจากการทดลอง ยังพบอีกว่าสารสกัดจากผลมะม่วงหิมพานต์นั้นสามารถเพิ่มขนาดของใยกล้ามเนื้อของกล้ามเนื้อ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จที่คณะแพทยศาสตร์ มข.ได้ศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดจากมะม่วงหิมพานต์ในการเพิ่มความสามารถในการทำงานของกล้ามเนื้อและสมอง มีการผลิตออกมาเป็นสูตรที่เห็นแล้วว่าได้ผล 

“ยอมรับว่าผลงานวิจัยดังกล่าวนี้ของ คณะแพทย์ศาสตร์ มข. เป็นผลงานวิจัยครั้งแรกของไทย ที่เป็นการบูรณาการการมีส่วนร่วมจาก ภาควิชาจิตเวช ภาควิชาอายุรศาสตร์ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน สอดรับกับนโยบายของคณะผู้บริหารที่มุ่งเน้นให้คณะแพทยศาสตร์ ทำการวิจัยเกี่ยวกับอาหารบำบัดอย่างต่อเนื่อง  อีกทั้งนโยบายของภาครัฐ ที่ได้มีการส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ ซึ่งมะม่วงหิมพานต์มีการปลูกทางภาคใต้เป็นส่วนมาก และปัจจุบันได้ขยายพันธุ์ไปทั่วทุกภูมิภาค  โดยที่ภาคอีสานนั้นเป็นมะม่วงหิมพานต์พันธุ์ศรีษะเกษ ภาคเหนือจะเป็นสายพันธุ์อุตรดิตถ์ โดยที่ทีมงานนักวิจัย ได้มองประโยชน์ที่เกิดในทุกๆด้านไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่วัตถุดิบด้านการเกษตร ซึ่งเป็นจุดเริ่มที่จะการสนับสนุนวัตถุดิบให้ผู้ประกอบการ หรือนำผลสำเร็จจากงานวิจัยไปใช้ประโยชน์พัฒนาผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ ก่อให้เกิดมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ”

รศ.ดร.จินตนาภรณ์ กล่าวในตอนท้ายว่า นอกจากน้ำผลมะม่วงหิมพานต์ ที่ประสบความสำเร็จและเป็นความภาคภูมิใจของทีมนักวิจัยแล้วนั้น  ล่าสุด สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. และบริษัท ไอยราแพลนเน็ต จำกัด   ยังได้ให้การสนับสนุนงบประมาณพัฒนางานวิจัยต่อเนื่องในส่วนของ “การเพิ่มมูลค่ามะม่วงหิมพานต์ในรูปอาหารสุขภาพ” ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพัฒนางานวิจัย โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 3 ปี ต่อจากนี้







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS