ฮือฮา ม.ขอนแก่น วิจัย "ไก่ KKU 1" ยูริคต่ำ ไขมันน้อย ไร้เกาต์   


11 ตุลาคม 61 09:14:39

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 10 ต.ค. รศ.บัญญัติ  เหล่าไพบูลย์  รอง ผอ.ศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ (ไก่พื้นเมือง) คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้พาสื่อมวลชนมาที่ศูนย์เครือข่ายวิจัยฯ ด้านทิศใต้ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อแถลงข่าวกับสื่อมวลชน "ไก่ KKU 1" หรือ “ไข่มุกอิสาน 2” ผลงานวิจัยคณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปรับปรุงพันธุ์ลูกผสมไก่พื้นเมืองได้พันธุ์ใหม่ “KKU1” ยูริคต่ำ ไขมันน้อย เนื้อเหนียวแน่นนุ่ม เลี้ยงง่าย ไฟเบอร์กล้ามเนื้อมีขนาดเล็ก โคเลสเตอรอลต่ำ มีกรดยูริคต่ำเพียง 1.91 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
 
โดย รศ.บัญญัติได้พาสื่อมวลชนไปที่ไก่พ่อพันธุ์ ซึ่งเป็นพันธุ์บอยเดอร์ จำนวน 80 ตัว ที่เลี้ยงไว้ในห้องปรับอากาศ และมาที่ไก่แม่พันธุ์ จำนวน 2,400 ตัว และ "ไก่KKU 1" อายุ 24 - 30 วัน จำนวน 30 ตัว
 

 
รศ.บัญญัติ  เหล่าไพบูลย์   กล่าวว่า ปัจจุบัน คนไทยหันมาสนใจเรื่องสุขภาพมากยิ่งขึ้น ขณะที่ไก่ที่คนทั่วไปรับประทานกันนั้นถือเป็นอาหารหลักบนโต๊ะอาหาร มีพิวรีนหรือยูริกสูง ประมาณ 6 มิลลิกรรมต่อกรัม ทำให้ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยมีปัญหา เป็นกรดยูริกสูง หลายคนจำต้องงดบริโภคไก่ทั้งๆที่ชอบ ดังนั้น จึงได้วิจัยเพื่อที่จะพัฒนาพันธุ์ไก่ให้มีกรดยูริกต่ำ รวมทั้งไขมันและคอเลสเตอรอลต่ำด้วย
 
จึงได้นำไก่พื้นเมืองพันธุ์ซี ซึ่งเป็นไก่ที่มีขนสีขาวมาผสมกับไก่พันธุ์ปกติที่ใช้ในทางการค้าและใช้เทคโนโลยีชีวภาพมาทำเครื่องหมายพันธุกรรม โดยการเจาะเลือดดูพันธุกรรมของไก่ก่อน โดยไก่จะต้องมีระดับเลือดที่ 25 %  และใช้กระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพ พัฒนาเพื่อให้ได้ไขมันต่ำและยูริกต่ำ โดยไก่ที่เข้าสู่กระบวนการนี้จะต้องมีอายุตั้งแต่ 1 วัน ซึ่งต้องใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 35 วัน  ก็สามารถนำไปจำหน่ายได้ 
 
รศ.บัญญัติ  เหล่าไพบูลย์  รอง ผอ.ศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ (ไก่พื้นเมือง) คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.บัญญัติ  เหล่าไพบูลย์  คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 
 
รศ.บัญญัติ กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยคณะวิจัยได้ดำเนินการเรื่องนี้มาประมาณ 7 ปี ก่อนที่จะประสบความสำเร็จเมื่อปี 2559 ปัจจุบันนี้ได้ไก่ไทยที่เรียกว่า "ไก่ KKU 1" ยูริคต่ำ ไขมันน้อย  ไร้เกาต์ โดยไก่พันธุ์นี้มียูริกต่ำกว่าไก้ในท้องตลาดประมาณ 3 เท่า คือมียูริกเพียง 2 มิลลิกรัมต่อกรัม ถือว่าไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่จะบริโภคไก่ และไก่ KKU 1 มีเป้าหมายที่จะผลิตให้ได้ตรงความต้องการของตลาดที่ให้ความสนใจกับไก่พันธุ์นี้จำนวนมาก คือ สัปดาห์ละ 2 หมื่นตัว และมีเป้าหมายที่จะนำไก่ดังกล่าวเป็นอาหารโดยไม่ต้องกลัวโรคเกาต์
 
“ไก่ของเราถือเป็นอาหารสุขภาพแม้แต่ผู้ที่เป็นโรคเก๊าท์ก็สามารถรับประทานได้  แต่อย่างไรก็ดีไม่ใช่ว่าตั้งหน้าตั้งตารับประทานทีละมากๆ หรือทานบ่อยๆ อันนี้ก็ไม่ได้ ไก่ของเราเหมาะที่จะทำเป็นไทยบอยเลอร์หรือไก่เนื้อ มีเลือดผสมไก่พื้นเมืองอยู่ด้วย จะให้รสชาติที่อร่อยกว่าไก่เนื้อทั่วไป  แต่ตอนนี้ราคาขายไก่ของเราตกกิโลกรัมละ 65 บาท เพราะคนเลี้ยงยังน้อย ยังผลิตได้ไม่มาก  ราคาจึงสูงกว่า ส่วนมากเกษตรจะเลี้ยงส่งตามภัตตาคารเพราะถือเป็นอาหารพรีเมี่ยม ไก่พันธุ์พื้นเมืองอิสานตอนนี้ถือว่าอนาคตกำลังดัง รสชาดอร่อย ถูกปาก ไขมันต่ำ โปรตีนสูง กรดยูริคต่ำ  นอกจากจะเป็นอาหารสุขภาพที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุแล้ว ไข่ไก่พื้นเมืองยังเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งที่กำลังให้คีโม ซึ่งต้องการโปรตีนสูงเพื่อสร้างเม็ดเลือดขาว แต่ปัญหาคือการผลิตยังทำได้ไม่เพียงพอ" รศ.บัญญัติ กล่าว
 
รศ.บัญญัติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้ทางมหาวิทยาลัยกำลังมองหาผู้ประกอบการที่จะมาเพาะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์เพราะความสามารถของเราสามารถผลิตได้ 20,000 ฟองต่อเดือน  ขณะที่ตลาดมีความต้องการถึงเดือนละ 1 แสนฟอง โดยเฉพาะเกษตรกรตามแนวชายแดน หากเลี้ยงก็สามารถส่งขายไปยังประเทศเพื่อนบ้านของเราซึ่งเขาบริโภคเฉพาะไก่พื้นเมือง ราคาส่งขายสูงถึงกิโลกรัมละ 110 บาท ต้องบอกว่า ตลาดของไก่ของพื้นเมืองยังมีอนาคตที่ไกลมากทั้งในและต่างประเทศ
 






เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS