เตือนเกษตรกรงดทำนาปรับ เตรียมทำฝนหลวง (มีคลิป)   


10 ตุลาคม 61 16:13:56

 
"รองนายกรัฐมนตรี" สั่งทำฝนหลวงเติมน้ำในอ่างทั่วทั้งภาคอีสาน หลังพบว่าเขื่อนขนาดใหญ่ 2 แห่งและอ่างเก็บน้ำหลายแห่งมีปริมาณน้ำน้อยมาก พร้อมเตือนเกษตรกรงดทำนาปรังหลังน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ไม่สามารถปล่อยลงเขตชลประทานได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทำนาปรังรวมกว่า 300,000 ไร่

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 9 ต.ค.2561 ที่เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น พล.อ.ฉัตรชัย  สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำ หลังพบว่าปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำเก็บกักเพียงร้อยละ 36 โดยมีการเรียกประชุมด่วนร่วมนายทองเปลว  กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน,นายสมเกียรติ  ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช.,นายสันติ  เหล่าบุญเสงี่ยม รอง ผวจ.ขอนแก่น รวมไปถึงผู้บริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่รับผิดชอบงานด้านการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเพื่อประเมินสถานการณ์และกำหนดแผนการบริหารจัดการน้ำหลังสิ้นสุดช่วงฤดูฝน
 
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้มีคำสั่งให้กรมฝนหลวงเตรียมความพร้อมในการทำฝนหลวงทันทีหากมีสภาพความชื้นของอากาศที่เหมาะต่อการทำฝนหลวง เพื่อเติมปริมาณน้ำลงในเขื่อนอุบลรัตน์ให้ได้มากที่สุด เพราะขณะนี้เขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนลำนางรอง เป็น 2 เขื่อนขนาดใหญ่ของภาคอีสานที่มีปริมาณน้ำในความจุอ่างที่น้อยมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลกังวลในปริมาณน้ำที่จะต้องบริหารจัดการน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ขณะที่พื้นที่เขตชลประทานตามแม่น้ำพองนั้นยอมรับว่าเมื่อปริมาณน้ำที่มีอยู่ในขณะนี้จะไม่สามารถปล่อยน้ำเพื่อการเกษตรได้ ซึ่งจะส่งผลต่อการทำนาปรังกว่า 300,000 ไร่ ในพื้นที่เขตชลประทาน ดังนั้นกลุ่มจังหวัดในภาคอีสานตอนกลางที่อยู่ในเขตชลประทานจะต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนนั้นได้รับทราบถึงสถานการณ์น้ำที่กำลังเกิดขึ้นเพื่อหยุดการทำนาปรังและไปทำการเกษตรในกลุ่มพืชที่ใช้น้ำน้อยแทนรวมทั้งการหาอาชีพเสริมให้กับประชาชนนั้นได้มีรายได้ตลอดทั้งช่วงฤดูแล้งที่กำลงจะมาถึง สำหรับการระบายน้ำนั้นให้มีการปรับแผนการระบายน้ำในภาพรวมโดยเน้นไปที่กลุ่มน้ำในการอุปโภคและบริโภค เป็นอันดับแรก


 
"ปริมาณน้ำเก็บกักของเขื่อนอุบลรัตน์ ที่จัดเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคอีสานตอนบนที่วันนี้มีปีมาณอยู่ที่ 868.89 ล้าน ลบ.ม.ของความจุอ่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 36 ในจำนวนนี้สามารถนำไปใช้งานได้ 287.22 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 15.53. โดยมีน้ำไหลเข้าอ่างวันละ 3.13 ล้าน ลบ.ม. โดยเขื่อนมีการระบายน้ำวันละ 4.02 ล้าน ลบ.ม. ทำให้การบริหารจัดการน้ำในกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนบนและตอนกลางนั้นต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง โดยความต้องการใช้น้ำเขื่อนอุบลรัตน์ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2561/62 (พ.ย. 61 - เม.ย. 62) รวม 446 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็น น้ำอุปโภคบริโภค 123 ล้าน ลบ.ม., น้ำรักษาระบบนิเวศ 37 ล้าน ลบ.ม., น้ำเพื่ออุตสาหกรรม 20 ล้าน ลบ.ม. รวมถึงการระเหยหรือรั่วซึมอีก 266 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งคาดว่าจะไม่มีน้ำเพียงพอที่จะสนับสนุนภาคการเกษตร"

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่ออีกว่า ในวันที่ 1 พ.ย. 61 ซึ่งถือว่าสิ้นฤดูฝน คาดว่าจะมีน้ำใช้การได้ 350 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้น ในฤดูแล้งนี้อาจจะต้องใช้น้ำจาก Dead Storage หรือน้ำก้นอ่างเบื้องต้น 96 ล้าน ลบ.ม.มาใช้ในการบริหารจัดการตลอดทั้งช่วงฤดูแล้ง จึงได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันและบรรเทาผลกระทบ ทั้งแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยการแก้ปัญหาระยะสั้น ต้องเร่งระดมการปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำ วางแผนจัดสรรน้ำให้เพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค น้ำรักษาระบบนิเวศ น้ำเพื่อการเกษตรต่อเนื่อง และต้องแจ้งเตือนเกษตรกรล่วงหน้า และส่งเสริมอาชีพอื่นๆ ทดแทนรายได้ เพื่อให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด อย่าให้เกษตรกรลงทุนเสียเปล่า ต้องเตรียมการช่วยเหลือในทุกวิถีทาง ขณะที่ในปี 2562 จะต้องมีการปรับเกณฑ์เก็บกักน้ำ (Rule Curve) ให้มีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับสภาพอากาศในแต่ละปี โดยมี สทนช. ทำหน้าที่กำกับการบริหารจัดการในภาพรวม ขณะที่แผนระยะยาวจะต้องวางแผนปรับเพิ่มความจุเขื่อนอุบลรัตน์ และ เพิ่มการผันน้ำจากแม่น้ำโขงมาเขื่อนอุบลรัตน์ ผ่านโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ซึ่งอยู่ในแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำอยู่แล้วโดยทุกหน่วยต้องเตรียมแผนงาน มาตรการรองรับและบูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อให้ผ่านวิกฤตไปได้  โดยมอบให้ สทนช. เป็นหน่วยงานกลางในการกำกับดูแลในภาพรวมทั้งหมด







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS