สนข.เปิดเวทีฟังคนขอนแก่น "สร้างท่าเรือบก" บนพื้นที่กว่า 700 ไร่ ที่น้ำพอง   


12 กันยายน 61 13:26:00

สนข.เปิดรับแสดงความคิดเห็นที่ขอนแก่น "สร้างท่าเรือบก" ที่สถานีรถไฟโนนพะยอม ต.ม่วงหวาน อ.น้ำพอง ขนาดพื้นที่ประมาณ 500 - 700 ไร่  เพี่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
 
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 11 ก.ย. นายสมศักดิ์  จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น ได้มาเป็นประธานประชุมกลุ่มเป้าหมายเพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 2 ของงานศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาท่าเรือบก เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยการดำเนินงานของ นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รอง ผอ.สนง.นโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ณ ห้องประชุมออคิด บอลรูม โรงแรมพูลแมน ราชา  ออคิด จ.ขอนแก่น ซึ่งมี  นายทรงศักดิ์ ทองไทย ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ขอนแก่น นายสุรเดช  ทวีแสงสกุลไทย ผู้ร่วมก่อตั้ง ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักธุรกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นในเรื่อง "ท่าเรือบก" เป็นจำนวนมาก
 

 
 นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รอง ผอ.สนง.นโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กล่าวว่า ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560- 2564) ที่มีเป้าหมายให้ประเทศไทยสามารถยกระดับโลจิสติกส์ของประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางทางการค้า การบริหาร และ การลงทุนในภูมิภาค โดยการพัฒนาการขนส่งทางราง การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและศูนย์บริการโลจิสติกส์ อาทิ ท่าเรือบก ศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า สถานีขนส่งสินค้า  คลังสินค้าปลอดอากร ย่านกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์ยกขนตู้สินค้าทางรถไฟ ในแนวเส้นทางยุทธศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงกับฐานการผลิตอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในแนว Economidor Corridor ที่สำคัญและฐานการผลิตทั้งเกษตรและอุตสาหกรรมของประเทศ ไปยังประตูการค้าหลักและด่านการค้าสำคัญของประเทศ
 
 
นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังถือว่าประตูการค้าหลักของประเทศ มีปริมาณสินค่าผ่านเข้า - ออกท่าเรือเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณการจราจรบริเวณโดยรอบท่าเรือแหลมฉบังและโครงข่ายเชื่อมโยง แม้ว่ามีสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง หรือไอซีดี ลาดกระบังให้บริการอยู่แล้ว แต่ปริมาณตู้สินค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเต็มความจุ ดังนั้น การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไปสู่ศูนย์กลางทางการค้า การบริการ และการลงทุนในภูมิภาค จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดแนวทางการพัฒนาและกำหนดพื้นที่และกำหนดพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการพัฒนาท่าเรือบกให้ชัดเจน รวมทั้งจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาท่าเรือบก เพื่อตอบสนองต่อปริมาณการขนส่งสินค้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต  
 
 
นายสมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม ว่า หอการค้าจังหวัดขอนแก่น และนักธุรกิจในจังหวัดขอนแก่น พร้อมสนับสนุนโครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) เกิดขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น เพราะมี  สถานีรถไฟโนนพะยอม ต.ม่วงหวาน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ขนาดพื้นที่ประมาณ 500 - 700 ไร่ มีศักยภาพสามารถพัฒนาเป็นท่าเรือบก และ Logistic Park เนื่องจากทำเลที่ตั้งของสถานีรถไฟโนนพะยอม อยู่ใกล้ถนนสายหลัก คือ ถนนมิตรภาพ รวมถึง จ.ขอนแก่นศูนย์กลางธุรกิจการค้า จึงมีสินค้าจำนวนมากและสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน สามารถดึงสินค้าส่งผ่าน (Transit Cargo) เข้ามาใช้บริการได้ อีกทั้งยังสามารถรองรับสินค้าจากจังหวัดใกล้เคียงโดยรอบ เช่น อุดรธานี กาฬสินธุ์ มุกดาหาร สกลนคร และ หนองคาย ได้อีกด้วย เบื้องต้นกลุ่มลูกค้าที่จะใช้บริการแน่นอนใน จ.ขอนแก่น คือ โรงงานน้ำตาล โรงงานเยื่อกระดาษ
 
“ศักยภาพทำเลที่ตั้งจังหวัดขอนแก่น เหมาะสมเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ ในเร็วๆ นี้ จะมีระบบรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง เกิดขึ้นในจังหวัดขอนแก่น อีกทั้งการย้ายฐานผลิตของอุตสาหกรรมน้ำตาล เข้ามาในจังหวัดขอนแก่นและใกล้เคียง ล้วนเสริมศักยภาพการพัฒนาโครงการท่าเรือบก ซึ่งศักยภาพ จ.ขอนแก่น จะพัฒนาเป็นประตูสู่อินโดจีน สินค้าจากจีนตอนใต้ ลาว เวียดนาม สามารถมาเปิดตู้คอนเทนเนอร์ที่ขอนแก่นได้” นายสมศักดิ์ ผวจ.ขอนแก่น กล่าว
 






เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS