พระขอนแก่นสู่อาเซียน   


11 กันยายน 61 20:46:08

มมร.วิทยาเขตอีสาน จ.ขอนแก่น พัฒนาศักยภาพพระนักเผยแผ่เขตลุ่มแม่น้ำโขงกับการเปลี่ยนแปลงในมิติของอาเซียน
 
บทบาทพระพุทธศาสนากับการเสริมสร้างสันติภาพนั้น ต้องนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันถึงจะส่งผลให้เกิดสันติภาพในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนได้ ซึ่งเรื่องของพระพุทธศาสนา ถือว่ามีความสำคัญต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในช่วงปลายปี 2558 นี้ เนื่องจากศาสนาถูกจัดอยู่ในเสาหลักเรื่องประชาคมทางสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนด้วย นอกจากนี้ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง ไทย ลาว เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม และจีน นับถือศาสนาพุทธ อีกทั้งยังมีพรมแดนประเทศเชื่อมติดกันจึงมีวิถีชีวิตด้านภาษาคล้ายกัน สร้างความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมือง 
 
 
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) วิทยาเขตอีสาน จ.ขอนแก่น ได้จัดโครงการพัฒนาศักยภาพพระนักเผยแผ่พระพุทธศาสนาเขตลุ่มน้ำโขง จากภูมิภาคต่างๆทั้ง 5 ประเทศ คือ ไทย ลาว พม่า กัมพูชา และเวียดนาม เพื่อพัฒนาศักยภาพพระนักเผยแผ่พระพุทธศาสนา และพัฒนาพระพุทธศาสนากับการเปลี่ยนแปลงในมิติของอาเซียน เพื่อให้ผู้เข้ารับอบรมได้รับความรู้เกี่ยวกับทิศทางพระนักเผยแผ่กับการศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ รวมไปถึงให้ผู้แทนพระนักเผยแผ่ได้ร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับสถานการณ์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศเขตลุ่มน้ำโขงในปัจจุบัน พร้อมวิธีการแก้ปัญหา การพัฒนาในเขตลุ่มน้ำโขงกับเรื่องราวต่างๆ เช่น สถานการณ์แม่น้ำโขง และผลกระทบต่อประเทศในเขตลุ่มน้ำโขง เพื่อให้พระนักเผยแผ่พระพุทธศาสนาและผู้เข้าร่วมโครงการสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนางานของตนเองในปัจจุบัน
 
 
ดังนั้น วันที่ 28 ส.ค. 2561 ณ ศูนย์วิทยาบริการสิรินธร มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.)  วิทยาเขตอีสาน จ.ขอนแก่น พระเทพบัณฑิต อธิการบดี มมร.วิทยาเขตอีสาน ร่วมกับ นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น ได้ร่วมกันเป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพพระนักเผยแผ่เขตลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 2 โดยพระครูสุธีจริยวัฒน์ ดร.รองอธิการบดี มมร.วิทยาเขจอีสาน ได้ดำเนินการซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการ คือ พระนักเผยแผ่ประเทศไทย ลาว เมียนมาร์ กัมพูชา เวียดนาม และจีน จำนวน 40 รูป พระภิกษุสงฆ์ สามเณร พระนักเผยแผ่ในประเทศไทย จำนวน 100 รูป คณาจารย์ พระนักศึกษา นักศึกษา จาก มมร.วิทยาเขตขอนแก่น จำนวน 200 รูป/คน และนักวิชาการ นักการศาสนา คณาจารย์ นักศึกษาสถาบันอุดมศึกษาใน จ.ขอนแก่นอีกจำนวนหนึ่ง
 
 
นายสมศักดิ์  จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า โครงการพัฒนาศักยภาพพระนักเผยแผ่เขตลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพพระนักเผยแผ่ในประเทศแถบลุ่มน้ำโขง เป็นการสร้างเครือข่าย ความร่วมมือ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ระหว่างพระสงฆ์ในประเทศแถบลุ่มน้ำโขง  ทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้แก่คณาจารย์ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านการศาสนา ได้ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และเป็นการสร้างความมั่นคงในพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่คู่ชาวพุทธศาสนิกชนสืบไป ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักกับภาพที่พระสงฆ์อาเซียนโดยเฉพาะลุ่มแม่น้ำโขงจะได้มีประชุมเพื่อสร้างศักยภาพในการเป็นผู้นำทางด้านจิตใจให้กับประชาชนในภูมิภาคนี้และเป็นตัวอย่างให้กับชาวโลก
 
พระเทพบัณฑิต อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทาลัย วิทยาเขตอีสาน กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นการหารือถึงอุปสรรคที่เป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเขตลุ่มน้ำโขง เพราะปัจจุบันสื่อดิจิตอลเข้ามามีบทบาทกับชีวิตมนุษย์ในสังคมโลกอย่างมาก ไม่เฉพาะกับทางโลกเท่านั้นที่ต้องเท่าทันสื่อ พระสงฆ์ก็ต้องรู้เท่าทันสื่อดิจิตอลเช่นเดียวกัน
 
 
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตอีสาน จึงได้จัดโครงการพัฒนาศักยภาพพระนักเผยแผ่พระพุทธศาสนา เขตลุ่มน้ำโขงเป็นความร่วมมือของ 6 ประเทศ คือ ไทย ลาว เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม และจีน(ยูนาน) ครั้งที่ 2 ในประเทศไทยที่ จ.ขอนแก่น เนื่องจากลุ่มน้ำโขงมีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วย ทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งเป็นจุดศูนย์กลางในการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงมีโครงการดังกล่าวเพื้อพัฒนาศักยภาพพระนักเผยแผ่พระพุทธศาสนา ส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือทางพระพุทธศาสนาและการศึกษาร่วมกันในเขตลุ่มแม่น้ำโขง ให้มีการใช้ความรู้ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเขตลุ่มน้ำโขงทั้งในอาเซียน และเวทีโลก
 
ฉะนั้นแล้ว ความท้าทายยุคไทยแลนด์ 4.0 กับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเขตลุ่มน้ำโขง พระสงฆ์ในประเทศเขตลุ่มน้ำโขง จะต้องสร้างองค์ความรู้ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาร่วมกัน โดยใช้หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นแกนหลักในการสร้างมิติทางการเผยแผ่รูปแบบใหม่ร่วมกัน เพื่อให้หลักธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาแพร่หลายออกไปในทุกสารทิศมีผู้ศรัทธาเลื่อมใส เคารพ ยำเกรง ในพระรัตนตรัย น้อมนำเอาหลักธรรมในพระพุทธศาสนาไปประพฤติปฏิบัติ โดยยึดหลักประโยชน์และความสุขของประชาชนเป็นสำคัญ
 
สุดท้ายประเทศในอาเซียนที่นับถือ "ศาสนาพุทธ" มาตั้งแต่อดีตเมื่อราว 2,000 ปี และยังมีการสืบทอดเจตนารมณ์มาจากบรรพบุรุษอย่าปล่อยให้การปกป้อง "พุทธศาสนา" เป็นหน้าที่พระท่านอย่างเดียว ชาวพุทธทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกันเผยแผ่พระพุทธศาสนาร่วมกัน โดยใช้หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นแกนหลักในการสร้างมิติทางการเผยแผ่รูปแบบใหม่ร่วมกันด้วย.






เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS