ทย. เผย มี.ค. ุ61 เปิดประมูล 6.8 พันล้าน สร้างอาคารผู้โดยสารสนามบินขอนแก่นและกระบี่   


8 มีนาคม 61 11:01:20
 
นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยว่า ในปี 2561 มีแผนพัฒนาท่าอากาศยานขอนแก่น และท่าอากาศยานกระบี่ วงเงินรวม 6,840 ล้านบาท (ปี 2561-63) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น แบ่งเป็น โครงการพัฒนาท่าอากาศยานขอนแก่น ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ วงเงิน 2,250 ล้านบาท และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานกระบี่ ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ และขยายลานจอดอากาศยาน วงเงิน 4,590 ล้านบาท โดยขณะนี้ทั้ง 2 โครงการอยู่ระหว่างขึ้นประกาศประชาพิจารณ์รายละเอียดเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) ทางเว็บไซต์ ทย. คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ภายในเดือน มี.ค. 2561 และได้ผู้ชนะการประมูลในเดือนเม.ย. 2561
นายดรุณ กล่าวต่อว่า การพัฒนาท่าอากาศยานขอนแก่น จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากเดิม 2.5 ล้านคนต่อปี เป็น 5 ล้านคนต่อปี ซึ่งแม้ปัจจุบันผู้โดยสารจะอยู่ที่ 1 ล้านคน ยังไม่เกินขีดความสามารถในการรองรับ แต่จากการติดตามการเติบโตของปริมาณผู้โดยสาร พบว่า การเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงต้องขยายไว้รอ เพราะหากรอให้ผู้โดยสารเกินขีดความสามารถในการรองรับ จะเกิดปัญหาแออัดผู้โดยสารล้นสนามบินเหมือนกับท่าอากาศยานอื่นๆ ส่วนท่าอากาศยานกระบี่ จะรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 4 ล้านคน เป็น 8 ล้านคนต่อปี คาดว่าอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ทั้ง 2 สนามบินจะเปิดให้บริการได้ในปี 2563-64
ส่วนความคืบหน้าการพัฒนาท่าอากาศยานที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ว่า ท่าอากาศยานแม่สอดกำลังก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ 12,000 ตารางเมตร วงเงิน 447 ล้านบาท รองรับผู้โดยสารได้ 600 คนต่อชั่วโมงหรือ 1.5 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้า 95.69% คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน มิ.ย.นี้ และเปิดให้บริการได้ภายในปี 2561
 

 
ส่วนท่าอากาศยานเบตง จ.ยะลา ซึ่งเป็นท่าอากาศยานสังกัด ทย. แห่งใหม่ ลำดับที่ 29 อยู่ระหว่างการก่อสร้างทางวิ่ง และทางขับ วงเงิน 1,316 ล้านบาท และก่อสร้างฐานรากอาคารผู้โดยสาร วงเงิน 338 ล้านบาท ปัจจุบันคืบหน้าประมาณ 10% คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการได้ในปี 2562
 
 
ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก ข่าวสด https://www.khaosod.co.th/economics/news_810719






เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS