มข.คิดนอกกรอบ ผุดโปรเจคท์จับคู่ให้คนโสดวันวาเลนไทน์   


13 กุมภาพันธ์ 61 10:30:37

มข.คิดนอกกรอบ ผุดโปรเจคท์จับคู่ให้คนโสดวันวาเลนไทน์ แก้ไขโจทย์วิจัยปัญหาทรัพยากรบุคคลในองค์กร 

โครงการสร้างความสุข “Buddy Day” แก้ไขโจทย์วิจัยปัญหาทรัพยากรบุคคลในองค์กร ดึงคนโสดทุกเพศวัย 30-45 ปี เชื่อมสัมพันธ์ เชื่อเป็นกลุ่มพลังสำคัญขับเคลื่อนองค์กร ให้เป็นองค์กรแห่งความสุขอย่างแท้จริง

       โครงการสร้างความสุข “Buddy Day” ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นจะจัดขึ้นในวันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งตรงกับวันวาเลนไทน์ เป็นกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดขึ้นเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ ถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ วัฒนธรรมที่ดีขององค์กรจากกลุ่มคนทำงานรุ่น Gen Baby Boomer ที่มีอายุ 54 ปีขึ้นไป (พ.ศ. 2489 - 2507) และ Gen X อายุระหว่าง 39 - 53 ปี (พ.ศ.2508 - 2522) ที่เป็นรุ่นพี่ที่เข้ามาทำงานก่อนในหน่วยงาน  สู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่ม “Generation Y” อายุในช่วง 18 - 38 ปี (พ.ศ.2523 - 2543) ที่เข้ามาทำงานในองค์กรเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี เป็นกลุ่มที่เติบโตมาพร้อมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีความสามารถในการทำงานที่เกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารได้เป็นอย่างดี ชอบการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงได้อยู่เสมอ แต่กลุ่ม Gen Y มีลักษณะนิสัยชอบแสดงออก มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ไม่ชอบอยู่ในกรอบและไม่ชอบเงื่อนไข  เกิดความไม่เข้าใจในลักษณะการทำงานระหว่างกันด้วยช่องว่างระหว่างวัย ทัศนคติ ความคิด พฤติกรรมวิธีการทำงานและการใช้ชีวิตในองค์กรที่มีความแตกต่างกัน จะจัดขึ้น ณ อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น

          ผศ. ดร. จงรักษ์ หงส์งาม  ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล  ที่ปรึกษาโครงการ “สร้างความสุข Buddy Day”  กิจกรรมที่มีแนวคิด เพื่อส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศการทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น  มีการปรับตัวเข้าหากัน  มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ วัฒนธรรมที่ดีขององค์กรสู่รุ่นน้อง และเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ พร้อมทั้งดึงศักยภาพของ Gen Y ออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการทำงาน โดยปั้นให้รุ่นน้องเป็นคนเก่ง คนดี มีใจรักและผูกพันกับองค์กร เพื่อให้รุ่นน้องเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุเป้าหมายต่อไปในอนาคต จึงเป็นความสำคัญที่ก่อให้เกิด “โครงการสร้างความสุข Buddy Day” ขึ้น

          “กิจกรรม Buddy Day มีที่มาจากโจทย์ของทางด้านประชากรศาสตร์ซึ่งปัจจุบันนี้การมีบุตรลดลง ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นปัจจุบันก็รับนักศึกษาได้น้อยลงด้วยนับว่าเป็นปัญหาระดับระดับประเทศ จากการทำวิจัยเล็กๆ ได้มีการสำรวจพบว่าบุคลากรที่อยู่ในมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นเพราะมีครอบครัวอยู่ที่นี่  ส่วนหนึ่งของการพัฒนาทรัพยากรบุคคล คือการสร้างความผูกพันให้เกิดขึ้นในองค์กรเป็นครอบครัว  ปัจจุบันนี้บุคลากรอายุประมาณ 30-45 ปี มีสถานภาพทางสมรสโสดอยู่จำนวนมาก  เป็นกลุ่มคนโสดกลุ่มแรกเป็นกลุ่มนำร่องทำกิจกรรมในการบริหารบุคคล  ที่จำกัดเฉพาะช่วงอายุที่กำหนดขึ้น  เนื่องจากบุคคลมีหลายประเภทการบริหารแบบที่เรียกว่าเหมือนกันในกลุ่มคนที่แตกต่างกันนั้นเป็นสิ่งที่เราไม่ทำอยู่แล้ว  ในอดีตอาจจะมีลักษณะที่เปิดทั่วไป   แต่ปรากฏว่าวัตถุประสงค์ของโครงการมันไม่ได้สอดรับกับกลุ่มคนบางกลุ่ม  การจัดกิจกรรมในช่วงวันวาเลนไทน์นั้นเป็นผลพลอยได้ที่จะเกิดประโยชน์จากการได้เจอเพื่อนๆ ซึ่งอาจจะเป็นคู่ชีวิตในอนาคตก็ได้  หรือเป็นเพื่อนที่รู้ใจกันทั้งเพศเดียวกันหรือต่างเพศก็ได้ และยังจะมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากที่จะจัดขึ้น อาทิ กิจกรรม Programmer day ขึ้นมา วันพ่อแม่ลูก หรือวันคุณครูหน้าใหม่  และกิจกรรม Buddy Day เป็นแค่หนึ่งในกิจกรรมที่จะมีขึ้น ซึ่งในอนาคตอีกเยอะมากมายนะคะถ้าเราจะทำความสุขให้เกิดขึ้นกับบุคลากร  สำหรับกลุ่มคนรุ่นแรกที่เข้ามาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้  ทีมผู้จัดมีความคาดหวังอยากได้แนวคิด คำแนะนำที่ดีในการกิจกรรมดีๆ จากกลุ่มคน Gen Y เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่มีแนวความคิดหลากหลาย”  ผศ. ดร. จงรักษ์  กล่าว

          ผศ. ดร. จงรักษ์ กล่าวต่อไปว่าว่า “การจะดึงศักยภาพคนในองค์กรที่มีความหลากหลายให้แสดงออกมาอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะสามารถทำภารกิจขององค์กรให้ประสบความสำเร็จนั้น  การที่บุคลากรจะโชว์ศักยภาพในการทำงานออกมานั้น อันดับแรกคือต้องรักในงานของตนเองก่อน  อันดับที่สองคือจะต้องรู้สึกว่าเขาต้องมีความสุขกับการทำงานเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน  ผลจากการรายงานวิจัยบอกว่าความสุขของบุคลากรส่วนหนึ่งเกิดมาจากการที่เขาได้รับการยกย่อง หรือได้รับการยอมรับ  ดังนั้นการสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้มีบรรยากาศที่อบอุ่น มีความสุข  มีการยกย่อง และการยอมรับทางจากผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงาน แม้ว่าภายในองค์กรมีความแตกต่างกันของบุคคลตั้งแต่แรกเข้า คุณวุฒิ และบทบาทหน้าที่แตกต่างกัน” 

          “Buddy Day”  จึงเป็นกิจกรรมนำร่องที่จะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากร  เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับบุคลากรเกี่ยวกับพฤติกรรม ลักษณะบุคลิกการทำงานของแต่ละกลุ่มวัย เมื่อบุคลากรได้มีความรู้ และความเข้าใจพฤติกรรมของแต่ละกลุ่มวัยแล้ว จะสามารถลดความขัดแย้งหรือปัญหาระหว่างการทำงานได้ เกิดบรรยากาศการทำงานที่อบอุ่นดุจพี่น้อง เห็นอกเห็นใจ ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ทำให้รุ่นพี่และรุ่นน้องในหน่วยงานทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข สามัคคีปรองดอง อีกทั้งยังเป็นช่องทางในการเปิดโอกาสให้บุคลากรต่างคณะ / หน่วยงาน ได้ทำความรู้จัก พูดคุย แลกเปลี่ยนการทำงานต่างๆ ร่วมกัน เกิดเป็นมิตรภาพใหม่ๆ ทำให้บุคลากรเกิดความสุขในการทำงานมากขึ้น เมื่อบุคลากรมีความสุขแล้วนั้น ย่อมส่งผลให้เกิดพลังที่ยิ่งใหญ่ที่จะช่วยกันทำงานขับเคลื่อนองค์กรให้ประสบความสำเร็จตามภารกิจที่กำหนดไว้ได้ และกลายเป็นองค์กรแห่งความสุข (Happy Workplace) ได้อย่างแท้จริง

ข่าว/ภาพ   :   วัชรา  น้อยชมภู
ที่มา https://www.kku.ac.th/news/v.php?q=0015254&l=th







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS