สนามบินอีสานรุ่ง-ขานรับ CLMV พลิกโฉม 'ขอนแก่น' ในรอบ 20 ปี   


13 กันยายน 60 16:29:02


          จากการท่องเที่ยวและการเดินทาง ด้วยสายการบินต้นทุนต่ำหรือโลว์คอสต์ในภาคอีสานโตทะลุจุดเดือด โดยมีส่วนแบ่งผู้โดยสารอยู่กว่า 40%
          ทำให้ "ทย.-กรมท่าอากาศยาน" ทุ่มเงิน 11,218.7 ล้านบาท เร่งปรับปรุงขยาย 9 สนามบินเพื่อรองรับความต้องการ ได้แก่ อุดรธานี ขอนแก่น อุบลราชธานี สกลนคร บุรีรัมย์ เลย นครพนม นครราชสีมา และร้อยเอ็ด
          ไฮไลต์อยู่ที่ "ท่าอากาศยานขอนแก่น" จะถูกพลิกโฉมครั้งใหญ่ในรอบ 20 ปี ด้วยงบฯ 2,500 ล้านบาท ปรับปรุงอาคารเดิมให้ไฉไล สร้างอาคารหลังใหม่และที่จอดรถเพิ่ม 3 อาคาร พื้นที่รวมกว่า 40,000 ตร.ม. ในนี้จะเนรมิตบางส่วนเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ สำหรับร้านค้า โอท็อป เอสเอ็มอี และสตาร์ตอัพ
          ไทม์ไลน์จะได้ผู้รับเหมาปีนี้ เริ่มก่อสร้างต้นปี 2561-2563 พร้อมอวดโฉมใหม่ในปี 2564 ภายใต้ชื่อ "ท่าอากาศยานนานาชาติขอนแก่น" จะรองรับทั้งเที่ยวบินในประเทศและระหว่างประเทศในกลุ่ม CLMV


          "ดรุณ แสงฉาย" อธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าวว่า สนามบินขอนแก่น อยู่ห่างจากตัวเมือง 8 กม. มีพื้นที่ 1,113 ไร่ ความยาวทางวิ่ง 3,050 เมตร รองรับเครื่องบินใหญ่สุด B747 และ B737 อาคารผู้โดยสารรองรับได้ 1,000 คนต่อชั่วโมง หรือ 2.4 ล้านคนต่อปี มีลานจอดรถ 160 คัน ปัจจุบันมี 4 สายการบิน ให้บริการ ได้แก่ ไทยสมายล์ ไทยแอร์เอเชีย นกแอร์ ไทยไลอ้อนแอร์ มี 38 เที่ยวบินต่อวัน ปีนี้คาดว่ามีปริมาณผู้โดยสาร 1.8 ล้านคนต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี 2559 อยู่ที่ 1.49 ล้านคน


          กรมได้งบฯปี 2561-2563 จำนวน 2,500 ล้านบาท ปรับปรุงพัฒนาท่าอากาศยานขอนแก่นให้เป็นสนามบินนานาชาติ จะสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ พื้นที่ 40,000 ตร.ม. พร้อมอาคารจอดรถ 550 คัน วงเงิน 2,250 ล้านบาท และขยายลานจอดเครื่องบินเพิ่ม 6 หลุมจอด วงเงิน 300 ล้านบาท จะเปิดประมูลในเดือน ก.ย. และเซ็นสัญญาปีนี้ เริ่มสร้างต้นปี 2561 เริ่มโอเปอเรตปี 2564 รับผู้โดยสารได้ 5 ล้านคนต่อปี


          ว่าที่ ร.ต.อัธยา ลาภมาก ผู้อำนวยการท่าอากาศยานขอนแก่น กล่าวว่า เร่งขยายสนามบินขอนแก่น เพราะเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ การศึกษา บริการภาครัฐและเอกชนของภาคอีสาน ทำให้การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเติบโตสูง มีลงทุนสร้างโรงแรม ศูนย์ประชุมสัมมนาขนาดใหญ่ ทำให้คนหันมาเดินทางด้วยสายการบินโลว์คอสต์เพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละ 7-10% และยังเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทาง จากประตูเศรษฐกิจชายแดนกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงและ CLMV


          รูปแบบใหม่จะเป็นอาคารทันสมัย 3 อาคาร มีอาคารจอดรถ 7 ชั้น สำนักงานและพิธีการบินอยู่ตรงกลางสูง 3 ชั้น และอาคารผู้โดยสารต่างประเทศ ที่ตั้งสำนักงานสายการบินและสำนักงานของกรมท่าอากาศยาน และขยายหลุมจอดเครื่องบินเป็น 11 หลุมจอด รองรับโบอิ้ง 737-800 และแอร์บัส เอ 320-200 จะเริ่มสร้างอาคารหลังใหม่ก่อน จากนั้นจะปิดปรับปรุงอาคารเดิม


          "ปีนี้ยังได้งบฯ 55 ล้านบาท สร้างสะพานเทียบเครื่องบินตัวที่ 3 จะเสร็จปี'61 และเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกได้เปิดเส้นทางเดินรถขอนแก่นซิตี้บัส จากสนามบินเข้าไปยังในเมืองด้วยค่าบริการ 15 บาท"


          ส่วนการเปิดเส้นทางระหว่างประเทศ ล่าสุดมีไทยแอร์เอเชียขอเปิดเส้นทางบินขอนแก่น-คุนหมิง และมีสายการบินลาวเซ็นทรัลแอร์ไลน์ ขอเปิดเส้นทางบินขอนแก่นไปหลวงพระบางและเวียงจันทน์ ในอนาคตหลังเปิดบริการอาคารหลังใหม่คาดว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นอีก


          ขณะที่ "ท่าอากาศยานอุดรธานี" ที่มีผู้โดยสาร 2.6 ล้านคนต่อปี เตรียมงบฯพัฒนา 2,184 ล้านบาทพัฒนา ในปี 2560 ได้เงิน 184 ล้านบาท แก้ไขข้อบกพร่องด้านรักษาความปลอดภัย และ 600 ล้านบาทปรับปรุงสนามบิน เช่น ระบบ EDS จะเปิดใช้วันที่ 1 ต.ค.นี้ เปลี่ยนระบบปรับอากาศ และกำลังพัฒนาลานจอดเครื่องบินเป็น 10 หลุมจอด จะเสร็จปลายปี 2561 จากนั้นปี 2565-2567 ขอ 2,000 ล้านบาท สร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ปรับปรุงอาคารเดิมให้รองรับได้ 7.4 ล้านคนต่อปี


          "ท่าอากาศยานเลย" จัดงบฯ 881 ล้านบาทพัฒนาสนามบินที่สร้างมาแล้ว 21 ปี โดยปี 2561 เจียด 20 ล้านบาท ขยายอาคารผู้โดยสารขาออกและปรับปรุงห้องน้ำ ปี 2562 ขอ 161 ล้านบาท แก้ไขข้อบกพร่องด้านรักษาความปลอดภัย และ 600 ล้านบาท สร้างอาคารหลังใหม่ในปี 2565-2567 รับผู้โดยสารจาก 5.5 แสนคนต่อปีเป็น 1.7 ล้านคนต่อปี และขยายลานจอด เครื่องบิน 120 ล้านบาทในปี 2566-2567


          "ท่าอากาศยานนครพนม" ได้งบฯปี 2561 วงเงิน 142 ล้านบาท แก้ไขข้อบกพร่องด้านความปลอดภัย ด้าน "ท่าอากาศยานสกลนคร" เตรียมงบฯ 1,045 ล้านบาท แก้ไขข้อบกพร่องด้านรักษาความปลอดภัย 145 ล้านบาท สร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่พร้อมอาคารจอดรถปี 2568-2569 วงเงิน 900 ล้านบาท รับผู้โดยสารจาก 8 แสนคนต่อปีเป็น 3.4 ล้านคนต่อปี


          "ท่าอากาศยานอุบลราชธานี" ใช้งบฯ 2,704 ล้านบาทเริ่มปี 2561 ใช้งบฯ 177 ล้านบาทต่อเติมอาคารผู้โดยสารและแก้ไขข้อบกพร่องด้านรักษาความปลอดภัย 217 ล้านบาท ในปี 2565-2567 ก่อสร้างปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร และอาคารจอดรถ 2,010 ล้านบาท ให้รับผู้โดยสารจาก 2.4 ล้านคนต่อปีเป็น 5 ล้านคนต่อปี และปี 2565-2567 ขยายลานจอดเครื่องบินเพิ่มอีก 300 ล้านบาท


          "ท่าอากาศยานร้อยเอ็ด" นอกจากเสริมผิวรันเวย์ให้เสร็จเดือน พ.ย.นี้ ด้วยงบฯ 50 ล้านบาท กำลังรองบฯปี 2562 กว่า 86 ล้านบาท ต่อเติมอาคารเดิมหลังผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 307% รวมถึงแก้ไขข้อบกพร่องด้านรักษาความปลอดภัยอีก 167 ล้านบาท และปี 2566-2567 ขอ 600 ล้านบาท สร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ รองรับได้ 1 ล้านคนต่อปี จากเดิม 7 .5 แสนคนต่อปี


          "ท่ากาศยานบุรีรัมย์" กำลังขออนุมัติให้เป็นสนามบินศุลกากรรองรับสายการบินระหว่างประเทศ พร้อมกับจัดงบฯ 326.89 ล้านบาทขยายลานจอดเครื่องบิน ต่อเติมอาคารผู้โดยสารเดิมและแก้ไขข้อบกพร่องด้านรักษาความปลอดภัย รองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ซึ่งปีนี้คาดว่าจะเกิน 2 แสนคน


          ปิดท้ายที่ "ท่าอากาศยานนครราชสีมา" รองบฯปี 2563 วงเงิน 178 ล้านบาท แก้ไขข้อบกพร่องด้านรักษาความปลอภัย

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2560

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทุ่ม 2.2 พันล้าน ขยายสนามบินขอนแก่น สู่สนามบินนานาชาติ รองรับผู้โดยสาร 5 ล้านคนต่อปี







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS